การเรียกค่าเสียหายจากรัฐ : จากกรณีโควิด-19 ถึงไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว

14 กรกฎาคม 2564

เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า บรรยายผ่านไลฟ์ในหัวข้อ “การเรียกค่าเสียหายจากรัฐ : จากกรณีโควิด-19 ถึงไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว”

จากกรณีโรงงานหมิงตี้เคมีคอลระเบิด เกิดเพลิงไหม้ รวมทั้งพบสารดคมีรั่วไหล เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 จนสร้างความเสียหายและผลกระทบต่อผู้อาศัยในบริเวณใกล้เคียงเป็นรัศมีกว่า 10 กิโลเมตร ในประเทศไทยเคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้มาก่อน ไม่ว่าจะเป็น รถแก๊สระเบิดครั้งใหญ่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ น้ำมันรั่ว จ.ระยอง จนมาเกิดเพลิงไหม้โรงงานที่กิ่งแก้วและบริเวณถนนลาดกระบัง

เมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ โรคระบาด อุบัติเหตุ จนเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน รัฐบาลมีหน้าที่อะไรบ้าง? ใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายที่ตามมา? และจะป้องกันเหตุการณ์เหล่านี้ได้อย่างร?

เลขาธิการคณะก้าวหน้า ได้อธิบายถึงหลักการกฎหมายสิ่งแวดล้อม ความรับผิดของรัฐ ข้อกฎหมายที่จะเป็นช่องทางให้ประชาชนเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐ รวมทั้งข้อเสนอเพื่อการแก้ไขปัญหาชดเชยเยียวยาความเสียหายจากภัยพิบัติ ความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข โรคระบาด อย่างเป็นระบบไว้ดังนี้

กฎหมายสิ่งแวดล้อมคืออะไร?

กฎหมายสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใหม่ ส่วนมากมักพูดกันว่าหมุดหมายที่สำคัญอันหนึ่งคือ พระราชบัญญัติส่งเสริมและ​รักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 แต่พระราชบัญญัติฉบับนั้นยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ เพราะมุ่งเน้นไปแต่เรื่องกฎหมายแพ่ง กฎหมายเอกชน และกฎหมายอาญา

แท้จริงแล้ว กฎหมายสิ่งแวดล้อมมีลักษณะเป็นกฎหมายผสม คือพัวพันกับกฎหมายหลายตัวมาก ตั้งแต่กฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง กฎหมายแพ่ง และกฎหมายอาญา

กฎหมายผสม มีลักษณะที่อ่อนนุ่ม ต้องบูรณาการหลายศาสตร์เข้ามา มีทั้งส่วนกฎหมายเอกชน ที่เอกชนกับเอกชนจะเรียกร้องค่าเสียหายกันเองทางแพ่ง มีบางส่วนเป็นกฎหมายอาญาที่รัฐต้องไปเอาผิดทางอาญากับผู้ก่อมลพิษ มีบางส่วนเป็นกฎหมายมหาชนและกฎหมายปกครองที่รัฐมีอำนาจในการออกมาตรการ กฎ ระเบียบ คำสั่งทางปกครองต่างๆ และบุคคลมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐได้ นอกจากนี้ ยังไปเกี่ยวพันกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ

หลายประเทศมีการยกระดับสิทธิในทางสิ่งแวดล้อมเข้าไปอยู่ในรัฐธรรมนูญในฐานะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และที่สำคัญกฎหมายสิ่งแวดล้อมยังพัวพันเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศด้วย ในฐานะที่กฎเกณฑ์ทางสิ่งแวดล้อมจำนวนมากเกิดจากข้อตกลงระหว่างประเทศ นอกจากวิชานิติศาสตร์แล้ว กฎหมายสิ่งแวดล้อมยังเกี่ยวข้องกับศาสตร์อื่นๆ เช่น เศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์

ในประเทศไทยพูดเรื่องสิ่งแวดล้อมในมุมรัฐธรรมนูญน้อยมาก ทั้งที่เรื่องนี้คือคุณค่าพื้นฐานในระดับรัฐธรรมนูญ หากสามารถรับรองหลักการพื้นฐานทางกฎหมายสิ่งแวดล้อมหรือสิทธิทางสิ่งแวดล้อมไว้ในรัฐธรรมนูญได้ ต่อไปรัฐก็ต้องเคารพหลักการเหล่านี้ ทุกองคาพยพของรัฐจะต้องออกกฎหมาย กฎกระทรวง พระราชบัญญัติ กฎหมายลำดับต่างๆ เพื่ออนุวัตรให้เป็นไปตามหลักการของกฎหมายสิ่งแวดล้อมต่อไป และบุคคลก็มีสิทธิเรียกร้องจากรัฐให้ปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีที่รัฐละเมิดสิทธิเหล่านี้ บุคคลก็มีสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐได้

ปฏิเสธไม่ได้ว่ากฎเกณฑ์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันเริ่มต้นมาจากกฎหมายระหว่างประเทศ เนื่องจากเรื่องสิ่งแวดล้อม มลพิษ มีผลกระทบครอบคลุมพื้นที่ไปทั่วโลก ไม่มีพรมแดนจำกัดอยู่ในประเทศใดประเทศหนึ่ง เวลาเกิดสภาพอากาศแปรปรวน อากาศเป็นพิษ ก็เกิดขึ้นไปทั่วในภูมิภาคนั้นๆ ดังนั้นกฎหมายระหว่างประเทศก็เข้ามาเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย จึงเกิดการทำความตกลงร่วมมือกันระหว่างประเทศเรื่องสิ่งแวดล้อมออกมาเป็นกฎบัตรอนุสัญญาต่างๆ ให้แต่ละรัฐนำไปปฏิบัติตาม

มีความพยายามสถาปนาหลักการพื้นฐานเรื่องของสิ่งแวดล้อมขึ้นมา ซึ่งเมื่อก่อนอยู่ในวิชาเศรษฐศาสตร์ วิชาสิ่งแวดล้อม วิชาผังเมือง แต่มาวันนี้หลักการพื้นฐานเหล่านี้ถูกสถาปนาให้กลายเป็นหลักการทางกฎหมายไปเรียบร้อยแล้ว บางประเทศเอาเข้าไปใส่ในรัฐธรรมนูญ บางประเทศเอาเข้าไปใส่ในระดับกฎหมาย พระราชบัญญัติ ในความตกลงร่วมมือกันของสหภาพยุโรปก็ดี ในสหประชาชาติก็ดี ก็เอาหลักการพื้นฐานเหล่านี้ไปเขียนรับรองเอาไว้เช่นเดียวกัน

เมื่อยกระดับเป็นหลักการพื้นฐานแล้ว ก็ตามมาด้วยการที่รัฐจะต้องยึดถือไว้ องคาพยพต่างๆ ของรัฐ กระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบเกี่ยวข้องจะต้องออกมาตรการบังคับใช้ในรายละเอียด เพื่อให้หลักการพื้นฐานเหล่านี้เกิดผลขึ้นมา ถ้ารัฐไม่ปฏิบัติ ไม่เคารพ ประชาชนก็มีสิทธิสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐหรือให้รัฐกระทำการบางอย่างได้

ทำความเข้าใจ “4 P” หลักการพื้นฐานของกฎหมายสิ่งแวดล้อม

4 หลักการพื้นฐานทางกฎหมายสิ่งแวดล้อม คือ “4 P” ประกอบด้วย Prevention การป้องกัน, Precaution การเฝ้าระวังล่วงหน้า, Participation การมีส่วนร่วม และ Polluter Payer ใครก่อมลพิษเป็นคนรับผิดชอบ

Prevention การป้องกัน ใช้กับกรณีที่ความเสี่ยงนั้นเคยเกิดขึ้นมาแล้วหรือทราบว่าอาจจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน ตัวอย่างเช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติ โรคระบาด ซึ่งในความรับรู้ของมนุษย์ประเมินได้ว่าฤดูกาลนี้มีโอกาสเกิดน้ำท่วม มีหิมะถล่ม มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดภัยสึนามิ ไข้หวัดนก ซารส์ มาถึงโควิด-19 ตอนนี้ ดังนั้นรัฐต้องมีมาตรการป้องกันเอาไว้ล่วงหน้า

Precaution การระวังล่วงหน้า คือสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ใช้กับกรณีที่ความเสี่ยงนั้นยังไม่เคยเกิดขึ้น แต่มีสมมติฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าเป็นไปได้ ยกตัวอย่างเช่น การตัดต่อพันธุกรรมในสัตว์และพืช พืช GMO อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ก็ต้องมีการออกประกาศเตือน

Participation การมีส่วนร่วมตัดสินใจโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย

Polluter-Payer หลักการผู้ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

สำหรับ Prevention และ Precaution มีความคล้ายกันคือไปเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงในชีวิตประจำวัน ทั้งความเสี่ยงในเรื่องสุขภาพ ความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายแก่สิ่งแวดล้อม ความเสี่ยงที่จะเกิดภัยพิบัติต่างๆ แตกต่างกันที่ กรณี Prevention คือ สิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหรืออาจเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แล้วเราต้องออกมาตรการป้องกัน ส่วนกรณี Precaution คือ สิ่งที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น แต่มีความเสี่ยงตามข้อมูลทางวิทยาศาสตร์  

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองเรื่องนี้ต่างเรียกร้องว่ารัฐต้องมีหน้าที่ต้องออกมาตรการต่างๆ ให้เป็นไปตามหลักการป้องกันล่วงหน้าและหลักการเฝ้าระวังล่วงหน้า

มนุษย์ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความเสี่ยงเสมอ ดังนั้นเมื่อเกิดความเสี่ยง รัฐจะต้องเข้ามาป้องกันความเสี่ยงหรือเตือนล่วงหน้าในความเสี่ยงนั้นๆ

เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายในทางสุขภาพ สิ่งแวดล้อม อุบัติเหตุ ภัยพิบัติต่างๆ ขึ้นได้ เช่น รู้อยู่แล้วว่าภัยพิบัติจะมา ดังนั้นจะต้องมีการติดตั้งระบบป้องกันและเตือนภัยไว้ คาดหมายได้ว่าในเดือนไหนของปีปฏิทินจะมีเหตุการณ์อะไรที่ต้องป้องกันเอาไว้ล่วงหน้า เล็งเห็นว่าน้ำท่วมกำลังจะมาต้องนำกระสอบทรายไปกั้น ต้องอพยพคนออกมา เล็งเห็นว่าไฟป่ากำลังจะมาต้องไปจัดการก่อน อากาศเป็นพิษ ก็ต้องมีระดับเตือนภัยว่าถึงระดับไหนแล้ว หากถึงระดับสูงสุด ก็ต้องออกคำสั่งห้ามใช้ยานพาหนะ ให้ใช้ขนส่งมวลชนสาธารณะเท่านั้น และเปิดให้ใช้บริการฟรี

หากรัฐไม่เคารพหลักการ ผลที่ตามมาก็คือผู้เสียหายสามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนจากรัฐได้ ในฐานะรัฐมีหน้าที่ต้องทำแล้วไม่ทำ เช่นเดียวกัน ในบางกรณีหากรัฐนำทั้งสองหลักการนี้มาใช้แล้วออกมาตรการบางอย่าง เช่น สั่งห้ามผลิต ห้ามจำหน้าย ห้ามเปิดบริการ จนไปจำกัดเสรีภาพของผู้ประกอบการ ผู้ประกอบที่ได้รับความเสียหาย ก็อาจจะฟ้องเรียกค่าเสียหายหรือฟ้องเพื่อเพิกถอนบรรดาประกาศคำสั่งของรัฐได้ โดยอ้างว่าว่ามาตรการที่รัฐออกมาห้ามเรื่องต่างๆ นั้นเกินกว่าเหตุ ทำให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแบกรับภาระมากเกินไป

ส่วนหลักการต่อมา Participation การมีส่วนร่วมตัดสินใจ โดยผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย หมายถึง เมื่อรัฐจะตัดสินใจดำเนินการโครงการใหญ่ๆ ที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนจำนวนมาก จำเป็นจะต้องสร้างการมีส่วนร่วมจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด สิ่งที่คุ้นเคยกันมากที่สุดคือเรื่องของการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Environmental Impact Assessment (EIA) ต้องมีการศึกษาผลกระทบก่อน ถ้าผลกระทบออกมาทำลายสิ่งแวดล้อมมากเกินไป ก็ทำไม่ได้ หรือถ้าเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมก็ต้องหลีกเลี่ยงให้เกิดน้อยที่สุด รวมทั้งมีมาตรการฟื้นฟูเยียวยา

ปัญหาของกฎหมายประเทศไทยคือพูดเรื่องนี้แต่ยังไม่สมบูรณ์เพียงพอ กฎหมายอนุญาตให้เจ้าของโครงการไปจ้างบริษัทเอกชนที่ปรึกษามาทำการศึกษาผลกระทบได้ด้วยตนเอง ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีเจ้าของโครงการที่ไหน จะไปจ้างบริษัทเอกชนที่จะมาศึกษาแล้วบอกว่าโครงการของตัวเองมีผลกระทบมากจนทำโครงการไม่ได้แน่ๆ ส่งผลให้การทำ EIA ที่ผ่านมา จึงไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ถ้าเราลองไปดูโครงการที่สร้างความเสียหายให้แก่ชุมชนจำนวนมาก ผ่านการศึกษาผลกระทบฯ หมดเลย แทบจะหาได้น้อยมากที่ศึกษาแล้วไม่ผ่าน ดังนั้นทางออกคือต้องมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวลดล้อมอย่างเป็นกลางและเป็นอิสระแท้จริง

การทำประชาพิจารณ์ก็เช่นกัน ประเทศไทยมีกฎหมายและระเบียบว่าด้วยการทำประชาพิจารณ์ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติ คือ เวลาทำประชาพิจารณ์ ผู้เกี่ยวข้องจริงๆ ไม่ได้เข้าร่วม ถูกกีดกัน ส่วนคนที่ไม่เกี่ยวข้อง กลับได้เข้าร่วม ในทางปฏิบัติเกิดปัญหาเล่นแร่แปรธาตุ  ฝ่ายเจ้าของโครงการเกณฑ์ผู้สนับสนุนหรือคนที่ตัวเองตกลงไว้แล้ว ขนเข้าไปในเวทีประชาพิจารณ์

นอกจากนี้ตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีอำนาจยิ่งไปใหญ่ จัดประชาพิจารณ์ทีไร กลับมีทหารมายืนเฝ้า แล้วคอยกีดกันสกัดขัดขวางประชาชนที่ไม่อยากให้เกิดโครงการไม่ให้เข้าร่วมประชาพิจารณ์ทุกครั้งไป บางครั้งก็จัดประชาพิจารณ์กันเงียบๆ สร้างโครงการจนเสร็จ จากนั้นเกิดปัญหาตามมามากมาย

โดยโครงการต่างๆ ที่รัฐอนุมัติให้ดำเนินโครงการโดยไม่ผ่านกระบวนการเหล่านี้ เราถือได้ว่าโครงการเหล่านั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการศึกษาผลกระทบก็ดี การประชาพิจารณ์ก็ดี ถือเป็นกระบวนการขั้นตอนที่เป็นสาระสำคัญอย่างยิ่ง ก่อนจะออกคำสั่งอนุมัติอนุญาตต่างๆ

หลักการสุดท้าย Polluter-Payer ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้รับผิดชอบ แรกเริ่มเดิมทีเป็นหลักการทางเศรษฐศาสตร์ แต่ในระยะหลังได้ถูกทำให้เป็นหลักการทางกฎหมายมากขึ้น เพื่อมาฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายกัน

ค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม ถือเป็นค่าเสียหายอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งต้องมีการชดเชย โดยไม่ได้ให้บุคคลใดบุคคลหนึ่ง เนื่องจากผลกระทบไม่ได้เกิดขึ้นแค่ต่อคนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่เกิดกับประชาชนคนทั่งรุ่นไปจนถึงคนรุ่นถัดไปด้วย

ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น ในที่สุดคนที่ก่อปัญหาอาจไม่ทันได้รับผลกระทบ แต่รุ่นลูกหลานจะได้รับผลกระทบ ยกตัวอย่าง เหตุการณ์โรงงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิลระเบิดตอนปี 1986 ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดความเสียหายขนาดไหน จนทุกวันนี้คนที่ยังคนที่มีชีวิตอยู่ได้รับความเสียหายทางพันธุกรรมจากกัมมันตรังสี

ดังนั้นค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมเป็นคอนเซ็ปต์ใหม่ ไม่ใช่ความเสียหายต่อปัจเจกบุคคลกลุ่มใดหรือคนใด แต่คือความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมที่มนุษยชาติต้องรับผิดชอบร่วมกัน

หลักการนี้จึงถูกพัฒนาต่อมา ในทางปฏิบัตินำมาใช้ผ่านรูปแบบของภาษีและค่าธรรมเนียม โดยนำเครื่องมือทางการคลังมาใช้ ยกตัวอย่างเช่น การขับรถใช้น้ำมัน ทุกคนร่วมกันก่อมลพิษ ดังนั้นต้องเก็บภาษีจากการบริโภคน้ำมัน หรือในมุมกลับก็คือการลดภาษีให้บุคคลที่ไม่ได้ปล่อยมลพิษและผู้ประกอบการที่มีมาตรการรักษาสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ยังมีแนวคิดการตั้งกองทุนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมโดยรัฐ เพื่อจะฟื้นฟูเยียวยาสิ่งแวดล้อมให้กลับมา หรือไม่เช่นนั้นบริษัทเอกชนที่เป็นผู้ก่อมลพิษก็ต้องรับภาระในการทำให้สิ่งแวดล้อมฟื้นคืนกลับมา โดยกำหนดให้เอกชนต้องนำเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมของรัฐ

ว่าด้วยความรับผิดของรัฐ : ความรับผิดจากละเมิด และความรับผิดโดยปราศจากความผิด

ประเทศไทยมีกฎหมายหลักตัวหนึ่งชื่อว่า พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของ​เจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 พูดถึงหลักการ ว่าเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐออกไปปฏิบัติหน้าที่ของตัวเอง หากมีประชาชนได้รับความเสียหาย ก็ให้สิทธิผู้เสียหายสามารถไปฟ้องเอากับหน่วยงานรัฐต้นสังกัด เพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้ หรือในกรณีที่หาหน่วยงานต้นสังกัดไม่เจอ ก็ให้ประชาชนไปฟ้องเอากับกระทรวงการคลัง

ต่อมาเมื่อมีการชดเชยให้แล้ว กระทรวงการคลังก็จะต้องมาดูว่าเจ้าหน้าที่คนนั้นปฏิบัติหน้าที่แล้วส่งผลไปละเมิดประชาชนโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ ถ้าจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หน่วยงานก็จะมาตามเก็บเอาจากเจ้าหน้าที่คนนั้นอีกทอดหนึ่ง ส่วนในกรณีที่เจ้าหน้าที่ไปละเมิดบุคคลอื่น โดยการกระทำละเมิดนั้นไม่ได้อยู่ในการปฏิบัติหน้าที่ อยู่นอกหน้าที่ กรณีนี้ผู้เสียหายสามารถฟ้องกับเจ้าหน้าที่เองได้ แต่ไม่สามารถฟ้องไปที่หน่วยงานได้

ส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 เกี่ยวกับการละเมิด หากจะดูว่าอะไรเป็นการละเมิดหรือไม่ ต้องดูว่าเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ มีกฎหมายอนุญาตให้กระทำหรือไม่ เกิดความเสียหายหรือไม่ และการกระทำกับความเสียหายนั้นสัมพันธ์กันหรือไม่ ถ้าครบสี่ข้อนี้การละเมิดก็เกิดขึ้นแล้ว ผู้เสียหายมีสิทธิในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนกับผู้กระทำการละเมิดได้

การละเมิดอาจจะเกิดจากลงมือการกระทำหรือเกิดจากการงดเว้นไม่ทำก็ได้ เราเรียกว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ การที่เจ้าหน้าที่รัฐมีหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดให้ทำแล้วไม่ยอมทำ อาจนำมาซึ่งความเสียหาย ก็ถือว่าเป็นละเมิดได้เช่นเดียวกัน

อีกความรับผิดหนึ่งที่มีความสำคัญมาก แต่มักไม่ถูกพูดถึง คือ “ความรับผิดอย่างอื่น” หมายถึง ประชาชนสามารถเรียกค่าเสียหายจากรัฐได้ แม้ ไม่มีการละเมิดเกิดขึ้น แต่รัฐต้องรับผิด

จุดกำเนิดของกฎหมายเรื่องนี้เริ่มต้นที่ประเทศฝรั่งเศส เรียกกันว่า “ความรับผิดโดยปราศจากความผิด” (Responsabilité sans faute) ฐานคิดมาจากสามเรื่องใหญ่คือ

1) ความเสี่ยงภัย หมายถึง ปัจเจกบุคคลอาจอยู่ในสถานะที่เสี่ยงภัยกว่าคนอื่น และเมื่อเกิดความเสียหาย รัฐต้องมาชดเชยเยียวยาให้ แม้รัฐจะไม่ผิดก็ตาม เช่น ความเสี่ยงภัยจากโควิด-19 ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าได้รับ ถ้าเสี่ยงภัยแล้ว ได้รับความเสียหายจนเสียชีวิต รัฐจะต้องชดเชย แม้รัฐจะไม่ได้เป็นผู้ทำให้เขาติดโควิด-19 หรือจงใจทำให้เขาติดโควิด แต่รัฐต้องชดเชยเพราะบุคลากรเหล่านี้เสี่ยงภัยมากกว่าคนอื่น เช่นเดียวกันกับกรณีบ้านเรือนที่อยู่รอบโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ บ้านเรือนเหล่านี้เสี่ยงภัยมากกว่าบ้านเรือนหลังอื่น หากเกิดอุบัติเหตุใดๆ ขึ้นมา ผู้อยู่อาศัยต้องได้รับการคุ้มครองเยียวยา

2) ความไม่เสมอภาคในการรับภาระจากการดำเนินนโยบายสาธารณะ ฐานคิดนี้มาจากการที่รัฐมีหน้าที่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม แต่เมื่อรัฐตัดสินใจทำอะไรก็ตามเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม อาจส่งผลให้ประชาชนหรือเอกชนรายใดรายหนึ่งเสียหายกว่าคนอื่น เพื่อให้รัฐทำผลประโยชน์ส่วนรวมได้สำเร็จ เช่น รัฐอยากสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง ต้องมีการเวนคืนที่ดิน ดังนั้นจึงต้องจ่ายค่าชดเชยการเวนคืนที่ดินให้ประชาชน แม้ว่ารัฐจะมีอำนาจตามกฎหมายในการเวนคืน รัฐไม่ได้ทำการละเมิด แต่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับเจ้าของบ้านที่ถูกเวนคืน เนื่องจากรัฐล้มเหลว ไม่สามารถทำให้ทุกคนได้รับภาระอย่างเท่าเทียมกัน มีคนบางกลุ่มต้องรับภาระมากกว่าคนอื่น รัฐก็ต้องไปช่วย

อีกตัวอย่างหนึ่ง เมื่อเกิดโรคระบาด รัฐไม่รู้จะหยุดการแพร่ระบาดได้อย่างไร จำเป็นต้องล็อกดาวน์ ส่งผลให้ผู้ประกอบการร้านอาหาร ธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ หากพิจารณาที่เหตุผลในการสั่งปิดถือว่าชอบธรรมแน่นอน แต่เหตุใดเอกชนบางรายต้องรับภาระทางสาธารณะมากกว่าคนอื่น เพื่อเป้าหมายที่ใหญ่กว่าคือการจัดการโควิด-19 รัฐจึงต้องชดเชยเยียวยา

ถามว่ารัฐละเมิดหรือไม่? คำตอบคือไม่ได้ละเมิด รัฐมีอำนาจตามกฎหมายในการตัดสินใจแบบนี้ แต่การไม่ชดเชยอะไรเลยเป็นไปไม่ได้ เพราะรัฐได้ทำให้คนกลุ่มเดียวเสียหายมากกว่าคนอื่นเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

3) ความสมานฉันท์ระหว่างเพื่อนร่วมชาติ (National Solidarity) หลักการคือเงินภาษีที่คนทั้งประเทศช่วยกันจ่ายมา ต้องนำมาช่วยบุคคลที่ได้รับความเสียหายกว่าคนอื่น แม้หน่วยงานไม่ผิด เจ้าหน้าที่ไม่ผิด แต่เมื่อมีกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากกว่าคนอื่นก็ควรต้องเอาเงินภาษีที่ทุกคนจ่ายไปช่วยเหลือ

ทั้งหมดนี้หมายความว่าเมื่อออกแบบระบบกฎหมายมาแล้ว สิ่งที่ตามมาคือสิทธิและหน้าที่ต่อกันระหว่างรัฐกับประชาชน พอทำให้หลักการเหล่านี้เป็นกฎหมาย จนก่อตั้งสิทธิและหน้าที่ได้แล้ว สังคมจะพัฒนาขึ้นไปอีกระดับ จนไม่ต้องมีการบริจาคช่วยเหลือเป็นบุณคุณกัน ทุกอย่างจะตั้งจากหลักการเหล่านี้ว่าสิทธิเรียกร้องของประชาชนคืออะไร รัฐมีหน้าที่ต้องกระทำอะไรให้ประชาชน

ประเทศไทยไม่มีระบบชดเชยเยียวยาที่ดีเพียงพอ เมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤต จึงออกมาในรูปแบบของการบริจาค ประชาชนรวมกลุ่มช่วยกันเอง เอาตัวเองให้รอด รัฐก็ทำตัวเหมือนไม่มีหน้าที่ หากออกแบบได้สมบูรณ์จริง รัฐจะถูกกำหนดว่ามีหน้าที่อะไร เมื่อรัฐไม่ทำตามหน้าที่ พวกเราประชาชนก็สามารถเรียกค่าเสียหายจากรัฐได้ โดยไม่มีใครมีบุญคุณต่อกันทั้งสิ้น

การฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายจากรัฐ : กรณีโควิด-19 ถึงไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว

การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในประเทศไทย จากทั้งในกรณีของโควิด-19 ที่ผ่านมา จนถึงโรงงานหมิงตี้ไฟไหม้ ต้องพิจารณาจาก กรณีที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐไปละเมิดผู้อื่น กับ กรณีที่ไม่มีการละเมิดเกิดขึ้นเลยแต่รัฐต้องเยียวยาอยู่ดี

ประเทศไทยมีระบบศาลคู่ คือ ศาลยุติธรรมและศาลปกครอง

สำหรับศาลปกครอง ตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง มาตรา 9 (3) เขียนไว้ชัดว่าในกรณีที่เป็นเรื่องของการละเมิด เป็นเรื่องของความรับผิดอย่างอื่น เป็นเรื่องของความเสียหายที่เกิดจากการละเลยหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าของเจ้าหน้าที่รัฐ เหล่านี้ให้ไปฟ้องที่ศาลปกครอง

ฐานแรก ฐานละเมิด คือ มีหน้าที่ทำแล้วไม่ทำ มีหน้าที่ทำแล้วละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ

ละเมิด หมายถึงว่า เมื่อรัฐมีหน้าที่ต้องทำแล้วไม่ยอมทำ เช่น รัฐมีหน้าที่บริหารจัดการโรคระบาด มีหน้าที่ต้องหาวัคซีนที่ได้มาตรฐานให้เพียงพอ ต้องออกมาตรการที่ดีเพียงพอในการลดการแพร่ระบาด ต้องมีโรงพยาบาล, ศูนย์บริการ, เตียงให้เพียงพอในการรักษาผู้ป่วย ถ้าไม่มีต้องหาวิธีอื่น จะใช้รูปแบบโรงแรมหรือจะให้กักตัวอยู่ที่บ้านแล้วมีมาตรฐานการดูแล ฯลฯ ทั้งหมดนี้รัฐมีหน้าที่ต้องทำ แต่ปรากฏว่าที่ผ่านมารัฐไม่ได้ทำ จะโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อก็ตาม

เพราะเป็นสิ่งที่รัฐคาดหมายได้ว่าจะเกิดวิกฤต โควิด-19 เกิดขึ้นมาปีกว่าแล้วเรื่องก็ซ้ำรอยเหมือนเดิม เรื่องเหล่านี้สามารถวางมาตรการป้องกัน แก้ไข ชดเชยเยียวยา เอาไว้ได้หมด แต่ถ้ารัฐไม่ได้เตรียมไว้ การตัดสินใจดำเนินการทางนโยบายเรื่องวัคซีน ในการเลือกซีนเพียงสองตัวเช่นนี้ ทั้งที่คาดหมายได้อยู่แล้วว่าวัคซีนจะมาไม่ทัน หรือจะไม่มีคุณภาพเพียงพอ คาดหมายได้ว่าจะการระบาดระลอก 3-4 จะมีสายพันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นอีก แน่นอนว่าคงไม่ใช่ความจงใจรัฐบาล แต่เป็นความประมาทเลินเล่อกลายเป็นการบริหารวัคซีนที่ผิดพลาด จนเกิดผู้เสียชีวิต ผู้ป่วย เกิดความเสียหายจำนวนมาก

ความประมาทเลินเล่อแบบนี้เข้าข่าย “ละเมิด” เมื่อเข้าข่ายละเมิดย่อมหมายความว่าผู้เสียหายทั้งหลายย่อมฟ้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐได้ เช่น ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ที่รวมศูนย์อำนาจเป็นเจ้าภาพเรื่องโควิด-19 ก็อาจจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ หรือหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องวัคซีน ถ้าส่องไปที่หน่วยงานต่างๆ เหล่านั้นแล้วยังคิดไม่ออกว่าจะฟ้องใครดี กฎหมายก็บอกให้ฟ้องที่กระทรวงการคลังได้

ดังนั้น ผู้ใดที่เสียหายมีญาติมิตรครอบครัวที่ตายจากเรื่องโควิด-19 แล้วเราสามารถหาข้อเท็จจริงมาประกอบกันได้ ว่าความตายเกิดขึ้นจากการประมาทเลินเล่อของหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบเรื่องโควิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหาเตียงไม่ได้ หาวัคซีนไม่ทัน หาวัคซีนได้ไม่ดีเพียงพอ มาตรการต่างๆ ไม่ดีเพียงพอ ผมเห็นว่าเข้าข่ายละเมิด สามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนได้

ฐานที่สอง ความรับผิดโดยปราศจากความผิด กรณีนี้ ศบค., กระทรวงสาธารณสุข, หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้ละเมิดใครเลย มีอำนาจตามกฎหมายในการกระทำ แต่การกระทำ การตัดสินใจดำเนินนโยบายของหน่วยงานรัฐทำให้คนบางกลุ่มได้รับความเสียหายเป็นการเฉพาะเจาะจงอย่างยิ่งเป็นพิเศษ

ตัวอย่างเช่น ธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม นักดนตรี คนที่ประกอบธุรกิจต่างๆ ที่ถูกสั่งให้ปิดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ทุกอย่างเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะทั้งนั้น หลากหลายประเทศก็ทำ ต้องยอมปิดเพื่อให้จำนวนการแพร่ระบาดลดลง แต่คำถามที่ตามมาคือการช่วยเหลือเยียวยา นี่คือความรับผิดอย่างอื่นที่รัฐต้องรับผิดชอบ เนื่องจากรัฐดำเนินนโยบายบางอย่างแล้วทำให้คนเฉพาะกลุ่มได้รับความเสียหายมากกว่าคนอื่นเป็นพิเศษ

ขณะที่หลายประเทศมีการจัดการเยียวยาก่อน ไม่ต้องให้มีการฟ้องกันเกิดขึ้น รัฐจัดการเยียวยาล่วงหน้า โดยจ่ายเงินก้อนชดเชยให้กิจการที่ต้องปิด ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย คือ ไม่มีการเยียวยาเลย หรือเยียวยาไม่เพียงพอ ไม่ครอบคลุม และล่าสุดดูเหมือนรัฐบาลจะทนแรงต้านทานไม่ไหว บอกว่าจะมีเงินชดเชยให้แล้ว แต่ก็ไม่พอและช้าเกินไปด้วย ดังนั้นผู้ประกอบการร้านอาหารต่างๆ มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ ถึงแม้กรณีนี้ รัฐไม่ได้ละเมิด รัฐมีอำนาจตามกฎหมาย แต่เป็นการดำเนินนโยบายซึ่งส่งผลให้คนกลุ่มหนึ่งซวยกว่าคนอื่น ก็ฟ้องในฐานความรับผิดอย่างอื่นได้

ตัวอย่างความรับผิดโดยไม่ได้ทำผิดอีกแบบหนึ่ง คือ บุคลากรทางการแพทย์ ได้แก่ หมอ-พยาบาล-อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) นักรบด่านหน้า ที่ปฏิบัติงานเสี่ยงภัยกว่าผู้อื่น หากเกิดกรณีบุคลากรเหล่านี้ต้องเสียชีวิตจากการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ก็เช่นกัน กรณีนี้รัฐไม่ผิด ศบค. ไม่ได้ผิด กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ผิด แต่เหตุเกิดขึ้นจากความเสี่ยงที่ต้องเผชิญมากกว่าประชาชนคนอื่น ดังนั้นรัฐต้องเยียวยาให้

อีกเหตุหนึ่งคือบรรดาธุรกิจต่างๆ ที่ถูก ศบค. ออกมาตรการสั่งปิด สั่งห้าม ก็อาจจะสู้ได้ว่า ประกาศ คำสั่ง มาตรการเหล่านี้ออกมาโดยไม่ชอบและไม่เคารพหลักความสมควรแก่เหตุ ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ไม่มีการเยียวยาชดเชย อาจไปฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งได้เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ปัญหากรณีโควิด-19 ซับซ้อนมากขึ้น เพราะ ศบค. และคำสั่งต่างๆ ของ ศบค. เกิดจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยอาศัยอำนาจตาม พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งในมาตรา 16 เขียนยกเว้นกฎหมายศาลปกครองเอาไว้ทั้งฉบับ หมายความว่าการใช้อำนาจใดๆ ตามพรกฉุกเฉิน หากมีคนอยากฟ้องเพิกถอนหรือเรียกค่าเสียหาย ก็ไม่สามารถฟ้องศาลปกครองได้ ต้องไปฟ้องศาลยุติธรรมแทน แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตและน่ากังวลใจว่า ศาลยุติธรรมเองรู้จักมักคุ้นแต่เรื่องของการจ่ายค่าสินไหมทดแทนจากละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 แต่แนวคำพิพากษาศาลยุติธรรม ไม่รู้จักคำว่า “ความรับผิดอย่างอื่น” ที่ไม่ได้เกิดจากการละเมิด ซึ่งต่างจากกรณีศาลปกครอง ที่มีกฎหมายเขียนไว้ชัดในเรื่องการเรียกค่าเสียหายจาก “ความรับผิดอย่างอื่น” ตามมาตรา 9 (3) และเคยมีแนวคำพิพากษาศาลปกครองสั่งให้รัฐชดใช้ในกรณีเช่นนี้มาแล้ว

ส่วนกรณีภัยพิบัติมีสองมุม มุมหนึ่งคือผู้เสียหายฟ้องกับโรงงาน เพราะโรงงานทำให้เกิดไฟไหม้ ทำให้เกิดสารพิษ ทำให้คนต้องอพยพ เกิดการบาดเจ็บ ทำลายสุขภาพ เสียชีวิต นี่เป็นเรื่องทางแพ่ง ตามกฎหมายเอกชน ก็ต้องว่ากันไปอาจเป็นหนี้จากมูลละเมิด หรือหนี้จากสัญญาประกันภัย ก็ว่ากันไป อีกมุมคือสามารถฟ้องรัฐกับศาลปกครองได้ เพราะ รัฐมีหน้าตามกฎหมายต้องป้องกันล่วงหน้า รู้อยู่แล้วว่าโรงงานลักษณะนี้มีความเสี่ยง บริเวณรอบนั้นมีความเสี่ยง ต้องมีมาตรการเตือนภัย รัฐมีหน้าที่เหล่านี้แต่ไม่ได้ทำ ถือเป็นการละเมิด

อีกประการหนึ่ง ตอนนี้อากาศเป็นพิษในพื้นที่ตะวันออกของกรุงเทพมหานครและจังหวัดสมุทรปราการทั้งหมด โดยยังไม่รู่ว่าจะไปไกลถึงไหน เกิดผลเสียหายเป็นวงกว้าง สิ่งแวดล้อมเสียหาย มลภาวะเป็นพิษเกิดขึ้น นี่คือค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมได้เกิดขึ้นแล้ว สามารถฟ้องได้ โดยที่เจ้าภาพที่เป็นคนฟ้อง กฎหมายหลายฉบับบอกว่าให้รัฐเป็นคนฟ้อง กฎหมายหลายฉบับให้อัยการเป็นคนดำเนินการเรียกค่าเสียหาย นอกจากนี้สมาคมด้านสิ่งแวดล้อมที่รวมตัวกันแล้วจดวัตถุประสงค์เรื่องการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมก็เป็นเจ้าภาพในการฟ้องเรื่องพวกนี้ได้เช่นเดียวกัน

ทำไมรัฐมีหน้าที่ต้องเยียวยา? ประชาชนจะทำอะไรได้บ้าง?

ประชาชนไม่จำเป็นที่จะต้องนั่งเฉยๆ รอให้รัฐมาเยียวยา

มนุษย์รวมตัวกันก่อตั้งรัฐขึ้นมา เพื่อหวังว่ารัฐจะดูแลประชาชน หน้าที่ของรัฐคือการอภิบาลดูแลประชาชน ถ้ารัฐไม่ดูแลประชาชน ประชาชนต้องช่วยเหลือกันเอง ต่อไปไม่ต้องมีรัฐก็ได้

ในส่วนข้อเสนอเพื่อการแก้ไขปัญหาชดเชยเยียวยาความเสียหายจากภัยพิบัติ ความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข โรคระบาด อย่างเป็นระบบแยกสำหรับแต่ละกรณี ควรต้องมีกองทุนที่เข้าไปเยียวยาทันทีโดยไม่ต้องมานั่งดูว่าใครผิดใครถูก ใครละเมิดหรือไม่ ส่วนกรณีถ้าเยียวยาแล้วยังไม่พอ ถึงไปฟ้องศาลเพิ่มได้

โดยสรุป

1) ผู้เสียหายจากกรณีโควิด-19 และไฟไหม้โรงงานหมิงตี้ควรใช้สิทธิในการฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายจากรัฐ อาจจะเป็นเรื่องของละเมิดหรือเรื่องของความรับผิดที่ไม่มีการละเมิด บางกรณีต้องไปศาลยุติธรรม บางกรณีต้องไปศาลปกครอง โดยอาศัยการฟ้องในลักษณะของกลุ่ม (Class Action) หรือจะฟ้องเองทีละคนก็ได้ และที่สำคัญที่สุด อาจจะต้องมีผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายมาช่วยเหลือ

2) รัฐควรจะต้องรับเป็นเจ้าภาพในการฟ้องเรียกค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม เพราะความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของคนทั้งประเทศหรือในระดับภูมิภาคด้วย

3) สร้างระบบกฎหมายให้มีความยั่งยืน หลักการ 4P ต้องเขียนเป็นหลักการพื้นฐานในรัฐธรรมนูญ

4) ควรต้องผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติกฎหมายสำคัญในการคุ้มครองสิทธิประชาชนให้ทันสมัย เช่น พระราชบัญญัติโรงงานออกมาตั้งแต่ปี 2535 ล่าสุดเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลง มีการยกเว้นการต่อใบอนุญาต ยกเว้นโรงงานบางประเภท เราควรควบคุมมาตรฐานโรงงานให้มากกว่านี้ แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการประชาพิจารณ์และการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมให้สามารถใช้งานได้จริง ไม่ใช่เป็นเพียงแค่พิธีกรรมที่จะต้องทำให้จบไปเท่านั้น

กฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อมก็ควรจะต้องปรับปรุงใหม่ให้ครอบคลุมทุกเรื่อง ทั้งในเรื่องมาตรการชดเชยเยียวยา เอาวิธีคิดเรื่องความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมมาใส่ นำมาตรการทางภาษีมาใส่ ตามหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย

เรื่องของผังเมืองก็เช่นเดียวกัน ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องผังเมืองเยอะมาก หลายครั้งโรงงานตั้งเสร็จแล้วค่อยมีผังเมืองตามมา แล้วให้ใช้บังคับในอนาคต ไม่ใช้บังคับกับโรงงานที่เกิดขึ้นแล้ว ถ้าทำแบบนี้ออกกฎหมายผังเมืองมาเป็นร้อยฉบับก็แก้ไม่ได้

รวมทั้งต้องมีมาตรการเชิงรุก โรงงานอุตสาหกรรมบางประเภทที่ถูกนำมาตั้งในพื้นที่ชุมชนอาจจะถูกต้องตามกฎหมายผังเมือง แต่ในที่สุดก็จะเกิดอันตรายแบบเหตุการณ์วันนี้และในอนาคตก็คงจะมีอีก แล้วเหตุใดไม่คิดให้เป็นยุทธศาสตร์ว่าาจะออกมาตรการอะไรในการจูงใจให้โรงงานไปตั้งในที่ที่ไม่มีคนอาศัยอยู่? ต้องมีมาตรการจูงใจ ใช้มาตรการทางภาษี การส่งเสริมการลงทุน หรือให้เงินอุดหนุนต่างๆ ทำให้เป็นทั้งระบบ ไม่เช่นนั้นเราจะเจอเหตุการณ์แบบโรงงานในพื้นที่กิ่งแก้วตามมาอีกแน่นอน

5) ต้องออกกฎหมายชดเชยเยียวยาเป็นการเฉพาะในกรณีโควิด ช่วยทั้งกรณีผู้เสียชีวิต ช่วยทั้งบุคลากรทางสาธารณสุขที่เสียชีวิตหรือเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ ช่วยทั้งกรณีผู้ประกอบการ นายจ้าง ลูกจ้าง ธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการป้องกันโควิด ช่วยทั้งประชาชนที่เลือกไปฉีดวัคซีนตัวอื่นจากโรงพยาบาลเอกชน แน่นอนว่านโยบายแทงมาตัวเดียวของรัฐบาลนี้แก้ไม่ทันแล้ว จึงยอมเปิดให้เอกชนนำเข้าวัคซีนตัวอื่นมา ใครมีเงินก็ไปจ่ายค่าวัคซีนเอา นี่คือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ต่อไปจึงต้องเยียวยาให้ประชาชนที่ตัดสินใจยอมควักเงินตัวเองไปฉีดวัคซีนยี่ห้ออื่นด้วย

หากรอให้เกิดการฟ้องคดีกันในศาล พี่น้องประชาชนต้องรับภาระในการขึ้นศาล เสียค่าธรรมเนียมศาลในการเรียกค่าสินไหมทดแทน ต้องตามคดี ขึ้นศาลไม่พอต้องไปพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่ามีการละเมิดเกิดขึ้นมีความเสียหายเกิดขึ้น มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำความเสียหาย ก็ต้องสู้คดีในศาล สุดท้ายกว่าจะตัดสินกันหมดได้รับการเยียวยากันหมด ก็อาจจะกินเวลา 5-10 ปีก็ยังไม่รู้จะจบหรือไม่

ดังนั้น การมีมาตรการทางนโยบายออกมาเลยจะช่วยตรงนี้ได้ เช่น คณะรัฐมนตรีออกมาตรการเยียวยามาเป็นชุด ชดเชยไปเลยให้ผู้เสียชีวิตจากโควิดได้เงินเท่าไหร่ หมอพยาบาลได้เงินเท่าไหร่ ร้านอาหารได้เท่าไหร่ และในอนาคตควรออกเป็นกฎหมายเป็นการทั่วไป ที่สามารถนำมาปรับใช้ในกับกรณีโรคระบาดหรือภัยพิบัติได้ในทุกกรณี

การวางระบบที่ดีจะทำให้เกิดสิทธิและหน้าที่ระหว่างพลเมืองกับรัฐมากยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องไปนั่งคิดว่าใครบริจาค ใครช่วยเหลือ อย่าไปคิดว่าโรคระบาดเกิดขึ้นเองจะไปเอาอะไรกับรัฐ นี่เป็นพันธกรณีระหว่างรัฐกับประชาชน โดยไม่มีใครเป็นหนี้บุญคุณกัน และรัฐมีหน้าที่ต้องดูแลประชาชน มิเช่นนั้น จะมีรัฐไว้ทำไม?

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า