ว่าด้วยการจัดการงบประมาณสถาบันกษัตริย์

4 มิถุนายน 2564

เมื่อกลางดึกคืนวันที่ 1 มิถุนายน 2564 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ในวาระที่ 1 เบญจา แสงจันทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายถึงงบประมาณสถาบันกษัตริย์ โดยชี้ให้เห็นว่าในปีงบประมาณ 2565 นี้ งบประมาณสถาบันกษัตริย์มียอดรวมอย่างน้อย 33,712,727,200 ล้านบาท

ยอดจำนวนนี้มาจากไหน?

เบญจาและทีมงานของพรรคก้าวไกล ได้ใช้วิริยะอุตสาหะตามแกะรอยงบประมาณสถาบันกษัตริย์ โดยนำเอกสารงบประมาณทั้งหมดหลายพันหลายหมื่นหน้ามาไล่เรียงหาว่างบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ถูกตั้งไว้กับส่วนราชการใดบ้าง จำแนกออกเป็นแผนงานหมวดหมู่ได้อย่างไร

ยอดรวมอย่างน้อย 33,712,727,200 (อ่านว่า สามหมื่นสามพันเจ็ดร้อยสิบสองล้านเจ็ดแสนสองหมื่นเจ็ดพันสองร้อยบาท)

แบ่งเป็น

  • งบประมาณที่ตั้งให้กับส่วนราชการในพระองค์โดยตรง – 8,761,390,800 บาท (อ่านว่า แปดพันเจ็ดร้อยหกสิบเอ็ดล้านสามแสนเก้าหมื่นแปดร้อยบาท)
  • งบประมาณโครงการหลวง/โครงการในพระราชดำริ ที่ตั้งไว้กับกระทรวง ทบวง กรม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น – 15,203,213,600 บาท (อ่านว่า หนึ่งหมื่นห้าพันสองร้อยสามล้านสองแสนหนึ่งหมื่นสามพันหกร้อยบาท)
  • งบประมาณถวายความปลอดภัย ที่ตั้งไว้กับสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (เช่น เครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (เช่น รถเทสล่า) – 6,938,427,100 ล้านบาท (อ่านว่า หกพันเก้าร้อยสามสิบแปดล้านสี่แสนสองหมื่นเจ็ดพันหนึ่งร้อยบาท)  
  • งบประมาณโครงการพิทักษ์รักษาและเทิดทูนสถาบันกษัตริย์ ที่ตั้งไว้กับทุกเหล่าทัพ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากร กรมการศาสนา – 629,930,900 ล้านบาท (อ่านว่า หกร้อยยี่สิบเก้าล้านเก้าแสนสามหมื่นเก้าร้อยบาท)
  • งบประมาณโครงการอื่นๆ เช่น งบพระราชทานเพลิงศพ งบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ งบดูแลช้างต้น เป็นต้น ซึ่งตั้งไว้กับสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม – 2,179,764,800 บาท (อ่านว่า สองพันหนึ่งร้อยเจ็ดสิบเก้าล้านเจ็ดแสนหกหมื่นสี่พันแปดร้อยบาท)   

ประชาชนคนไทยสนใจการอภิปรายของ เบญจา แสงจันทร์ และข้อมูลที่ทีมงานพรรคก้าวไกลค้นคว้าอย่างมาก สังเกดตได้จาก ยอดคนดู ยอดกดไลค์ ยอดกดแชร์ สังคมออนไลน์นำข้อมูลเหล่านี้ไปถกเถียง วิจารณ์ ทำเป็นอินโฟกราฟิค กราฟเปรียบเทียบกับงบประมาณส่วนอื่นๆ

ประชาชนคนไทยจำนวนมากตั้งคำถามว่า ในห้วงยามของวิกฤตโควิด-19 ที่ประเทศไทยยังไม่มีวัคซีนที่มีคุณภาพและเพียงพอต่อความต้องการ ในห้วงยามของวิกฤตโควิด-19 ที่คนไทยต่างประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ไม่มีงาน ไม่มีเงิน ต้องปิดกิจการ กว่าจะเอาตัวรอดให้พ้นไปแต่ละวันก็ยากเย็นแสนเข็ญ แต่ทำไมงบประมาณสถาบันกษัตริย์ของประเทศไทยจึงมากมายขนาดนี้?

ช่วงมหาทุพภิกขภัย มหันตภัยโรคระบาดเช่นนี้ ทำไมรัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีประชาชน ให้แก่สถาบันกษัตริย์มากถึงเพียงนี้? ทำไมรัฐบาลไม่แบ่งมาจัดสรรงบประมาณแผ่นดินให้การศึกษา การสาธารณสุข สวัสดิการ คุณภาพชีวิตของประชาชน?   

งบประมาณสถาบันกษัตริย์ในปีงบประมาณ 2565 อย่างน้อยเท่าที่ปรากฏให้เราเห็นในเอกสาร มีมากกว่า 33,712 ล้านบาท คิดถัวเฉลี่ยกับจำนวนประชากรไทย 66,187,727 คน (ข้อมูลประชากร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563) เท่ากับประชากรไทยรับภาระคนละ 509 บาท 36 สตางค์

เอาล่ะ ต่อให้เอางบโครงการหลวง โครงการพระราชดำริ งบเทิดทูน งบปกป้อง ที่ฝากไว้กับส่วนราชการอื่นออกไป

เอาเฉพาะงบประมาณที่ให้ตรงไปที่ส่วนราชการในพระองค์แต่เพียงอย่างเดียว

ก็ยังสูงถึง 8,761 ล้านบาท คิดถัวเฉลี่ยจำนวนประชากรไทย

เท่ากับรับภาระคนละ 132 บาท 37 สตางค์

ในขณะที่งบประมาณที่ให้กับสถาบันกษัตริย์ในหลากหลายประเทศในยุโรปที่ร่ำรวยกว่าเรา ผ่านรูปแบบเงินรายปี (Civil List) หรือเงินอุดหนุนส่วนกษัตริย์ (Sovereign Grant) เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับงบประมาณสถาบันกษัตริย์ของประเทศไทย (ไม่ว่าจะตัว 33,712 ล้านบาท หรือ 8,761 ล้านบาท) พบว่ามีจำนวนน้อยกว่าประเทศไทยมาก ดังนี้

  • สหราชอาณาจักร – 84.6 ล้านยูโร หรือประมาณ 3,214 ล้านบาท เฉลี่ยประชากรรับภาระคนละ 1.27 ยูโร หรือประมาณ 48.26 บาท (ปี 2017 2018)
  • เบลเยียม – 11.8 ล้านยูโร หรือประมาณ 448 ล้านบาท เฉลี่ยประชากรรับภาระคนละ 1.04 ยูโร หรือประมาณ 39.52 บาท (ปี 2017)
  • เดนมาร์ก – 11 ล้านยูโร หรือประมาณ 418 ล้านบาท เฉลี่ยประชากรรับภาระคนละ 1.92 ยูโร หรือประมาณ 72.96 บาท (ปี 2018)
  • เนเธอร์แลนด์ – 40.1 ล้านยูโร หรือประมาณ 1,523 ล้านบาท เฉลี่ยประชากรรับภาระคนละ 2.14 ยูโร หรือประมาณ 81.32 บาท (ปี 2015)
  • นอร์เวย์ – 28.7 ล้านยูโร หรือประมาณ 1,090 ล้านบาท เฉลี่ยประชากรรับภาระคนละ 5.46 ยูโร หรือประมาณ 207.48 บาท (ปี 2017)
  • สเปน – 7.8 ล้านยูโร หรือประมาณ 296 ล้านบาท เฉลี่ยประชากรรับภาระคนละ 0.17 ยูโร หรือประมาณ 6.46 บาท (ปี 2018)
  • สวีเดน – 12.4 ล้านยูโร หรือประมาณ 471 ล้านบาท เฉลี่ยประชากรรับภาระคนละ 1.27 ยูโร หรือประมาณ 48.26 บาท (ปี 2015)

(ข้อมูลจาก “Robert Hazell and Bob Morris (Editors), The Role of Monarchy in Modern Democracy : European Monarchies Compared, Hart Publishing, 2020, pp.181-189.)

จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนา มีคนยากจนอีกมาก มีรายได้ต่อหัวประชากรน้อยกว่าประเทศเหล่านี้ แต่กลับจัดสรรงบประมาณสถาบันกษัตริย์มากกว่าหลายเท่า จนอาจกล่าวได้ว่า ประเทศไทย นอกจากเป็นประเทศที่มีกษัตริย์รวยที่สุดในโลกในลำดับต้นๆ แล้ว (ตามการสำรวจของนิตยสาร Forbes) ยังเป็นประเทศที่จัดสรรงบประมาณสถาบันกษัตริย์มากติดลำดับต้นของโลกอีกด้วย

What is to be done?

การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย เพื่อให้ดำรงอยู่อย่างสถาพรภายใต้ความท้าทายใหม่แห่งยุคสมัย สิ่งหนึ่งที่ต้องดำเนินการ คือ การจัดการงบประมาณสถาบันกษัตริย์เสียใหม่ โดยมีข้อเสนอ ดังนี้

หนึ่ง ยกเลิกโครงการหลวง โครงการพระราชดำริ งบ “เทิดทูน” และการ “ฝาก” งบที่สัมพันธ์กับสถาบันกษัตริย์ไว้กับกระทรวง ทบวง กรม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ

ระบอบ Constitutional-Parliamentary Monarchy เรียกร้องว่า เพื่อมิให้กษัตริย์ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีใด เพื่อให้กษัตริย์รักษาสถานะความเป็นกลางและเป็นที่เคารพในฐานะศูนย์รวมจิตใจของชาติไว้ จึงจำเป็นต้องกำหนดให้กษัตริย์ไม่มีพระราชอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินหรือดำเนินนโยบายใด แต่ให้คณะรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเป็นผู้มีอำนาจและต้องรับผิดชอบในการกระทำของตน

จริงอยู่ ตามธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญตามสูตรของ Walter Bagehot ยืนยันว่ากษัตริย์สามารถให้คำแนะนำ ตักเตือนแก่รัฐมนตรีได้ จึงอาจมีกรณีที่กษัตริย์ทรงมีพระราชดำริให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องดำเนินโครงการต่างๆได้ แต่รัฐมนตรีก็เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจเองว่าจะดำเนินตามแนวพระราชดำริหรือไม่ เพราะตนเป็นผู้รับผิดชอบ และต้องเก็บพระราชดำริไว้เป็นความลับ กษัตริย์ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ

ดังนั้น เมื่อไรก็ตามที่กษัตริย์มีพระราชดำริแนะนำรัฐมนตรีให้ดำเนินโครงการ จึงไม่ได้หมายความว่าต้องมีโครงการตามพระราชดำริเสมอไป

การยอมให้มีโครงการตามพระราชดำริไป “ฝาก” ไว้กับกระทรวง ทบวง กรม หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ อาจนำมาซึ่งการบริหารราชการแผ่นดินที่ซ้ำซ้อน ตกลงแล้ว ผู้บริหารประเทศ คือใครกันแน่? หากประชาชนไม่นิยมโครงการเหล่านี้ หรือโครงการเหล่านี้ไม่ประสบความสำเร็จ ใครจะรับผิดชอบ?

ในกรณีประเทศไทยนั้น มีงบประมาณจำนวนมากสำหรับโครงการพระราชดำริ โครงการหลวง โครงการพิทักษ์หรือเทิดทูนสถาบันกษัตริย์ โครงการถวายความปลอดภัย หรือหรือโครงการอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ไปตั้งอยู่ที่กระทรวง ทบวง กรม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

เราจำเป็นต้องยกเลิกโครงการพระราชดำริ โครงการหลวง ปล่อยให้ภารกิจเหล่านี้เป็นการดำเนินการตามทางปกติของกระทรวง ทบวง กรม หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่รัฐมนตรีและข้าราชการคิดริเริ่มขึ้นมาเอง เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของประชาชน และดำเนินการตามแนวนโยบายของรัฐบาลที่ได้รณรงค์หาเสียงไว้กับประชาชน เพราะพวกเขาเหล่านี้มีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินและต้องรับผิดชอบต่อประชาชน หากโครงการดี ประชาชนก็ชื่นชม หากโครงการไม่ดี ประชาชนก็ก่นด่า หากโครงการประสบความสำเร็จ ประชาชนก็ได้ประโยชน์ หากโครงการล้มเหลว ไม่คุ้มค่า หรือมีทุจริตคอร์รัปชั่น รัฐมนตรีและข้าราชการที่เกี่ยวข้องก็ต้องรับผิดชอบ

ในส่วนของงบประมาณที่เกี่ยวกับการพิทักษ์รักษาและเทิดทูนสถาบันกษัตริย์และงบประมาณเกี่ยวกับการถวายความปลอดภัย ที่ตั้งไว้กับส่วนราชการอื่นๆ เช่น กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฯลฯ ก็ให้ยกเลิกไป และบูรณาการรวมศูนย์ไว้ที่ “เงินรายปี” หรือ Civil List ที่สภาผู้แทนราษฎรอนุมัติให้สถาบันกษัตริย์เป็นรายปี

สอง ลดจำนวนหน่วยงาน บุคลากร และงบประมาณของส่วนราชการในพระองค์

ในช่วงระบอบประยุทธ์ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา มีการตราพระราชบัญญัติที่เพิ่มพระราชอำนาจให้แก่กษัตริย์โดยตรงอย่างมีนัยสำคัญในหลายกรณี จนอาจกล่าวได้ว่า เกินขอบเขตของหลักการในระบอบ Constitutional-Parliamentary Monarchy ไป กรณีหนึ่งที่สำคัญ ก็คือ การเปลี่ยนแปลงส่วนราชการในพระองค์ มีการโอนกำลังพลจากหลายหน่วยงานเข้าไปสังกัดส่วนราชการในพระองค์ และขึ้นตรงต่อกษัตริย์

เมื่อส่วนราชการในพระองค์ขยายใหญ่โตขึ้นเช่นนี้ จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่ต้องของบประมาณแผ่นดินมากขึ้นตามไปด้วย จึงจำเป็นต้องลดขนาดส่วนราชการในพระองค์ให้เหลือแต่กิจการที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประมุขของรัฐและกิจการที่เกี่ยวกับวงงานของกษัตริย์โดยแท้

สาม ให้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจในการกำหนดเงินรายปี หรือ Civil List ให้แก่สถาบันกษัตริย์

ในประเทศที่ปกครองในระบอบ Constitutional-Parliamentary Monarchy งบประมาณที่ให้แก่สถาบันกษัตริย์ปรากฏในรูปของ “เงินรายปี” หรือ Civil List โดยสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจอนุมัติให้ความเห็นชอบและกำหนดว่า ในแต่ละปี สถาบันกษัตริย์จะได้งบประมาณไปใช้จ่ายในจำนวนเท่าไร โดยงบประมาณเหล่านี้ให้ใช้กับรายจ่ายเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประมุขของรัฐ การเสด็จพระราชดำเนิน การรักษาความปลอดภัย การเลี้ยงต้อนรับ บุคลากรของราชการส่วนพระองค์  

กรณีของสหราชอาณาจักรนั้นแตกต่างจากประเทศอื่นๆ เดิม สหราชอาณาจักรก็ใช้ระบบเงินรายปีที่สภาอนุมัติให้สถาบันกษัตริย์ หรือ Civil List ดังเช่นประเทศอื่นๆ แต่ในปี 2011 มีการตราพระราชบัญญัติเงินอุดหนุนส่วนกษัตริย์ (Sovereign Grant Act 2011) ยกเลิกระบบ Civil List และสร้างระบบเงินอุดหนุนส่วนกษัตริย์ (Sovereign Grant) ขึ้นแทน โดยงบประมาณส่วนนี้มาจากร้อยละ 15 ของกำไรจากการประกอบธุรกิจของสำนักงานทรัพย์สินส่วนกษัตริย์ (Crown Estate) ในปีงบประมาณสองปีก่อนหน้า ต่อมาในปี 2017 และ 2018 มีการเพิ่มขึ้นอีกเป็นร้อยละ 25 ของกำไรจากการประกอบธุรกิจของสำนักงานทรัพย์สินส่วนกษัตริย์ โดยจำนวนร้อยละ 10 ที่เพิ่มขึ้นมานี้ จะเก็บเข้าเป็นกองทุนในการซ่อมบำรุงรักษาพระราชวังบัคกิงแฮมตลอด 10 ปีข้างหน้า

การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ นับได้ว่าช่วยหลีกหนีให้งบประมาณกษัตริย์ไม่ต้องถูกอภิปรายในสภา กษัตริย์ไม่ตกเป็นประเด็นแห่งการอภิปรายจนสร้างข้อถกเถียงในสังคมใหญ่โต ไม่ต้องกังวลว่าสภาจะอนุมัติเงินรายปีให้น้อยจนไม่พอต่อความต้องการของสถาบันกษัตริย์ พร้อมกันนั้นยังอ้างได้อีกว่า ไม่ได้เบียดบังงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีประชาชน

แต่ตัดส่วนมาจากกำไรจากการทำธุรกิจของสำนักงานทรัพย์สินส่วนกษัตริย์ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ส่งผลให้งบประมาณสถาบันกษัตริย์เพิ่มขึ้นสูงอย่างมีนัยสำคัญ ในปี 2017 2018 เพิ่มขึ้นเป็น 84.6 ล้านยูโร มากที่สุดในยุโรป จนนำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง

สำหรับประเทศไทยนั้น ควรบัญญัติลงไปในรัฐธรรมนูญ กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจอนุมัติและกำหนดเงินรายปีให้กับสถาบันกษัตริย์ตามความเหมาะสม สอดคล้องกับความเป็นจริง ให้สมกับพระราชสถานะของกษัตริย์ตามสมควร พร้อมทั้งวางขอบวัตถุประสงค์การใช้จ่ายให้ครอบคลุมเรื่องต่างๆ ได้แก่ การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประมุขของรัฐ การเสด็จพระราชดำเนิน การต้อนรับพระราชอาคันตุกะ เงินเดือนสำหรับข้าราชการในพระองค์ การบำรุงรักษาพระราชวัง การรักษาความปลอดภัย และค่าใช้จ่ายต่างๆของส่วนราชการในพระองค์ และให้ใช้ได้เฉพาะค่าใช้จ่ายของกษัตริย์และสมาชิกราชวงศ์ที่ใกล้ชิดกับกษัตริย์ ได้แก่ กษัตริย์ พระราชินี บุตร ธิดา หลานสายตรง พี่ น้อง พ่อ และแม่

สี่ กำหนดให้มีระบบตรวจสอบงบประมาณสถาบันกษัตริย์ทำนองเดียวกันกับงบประมาณของส่วนราชการอื่น

ด้วยสถานะและพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ทั้งตามกฎหมายและตามวัฒนธรรมประเพณีที่มากล้น ย่อมส่งผลให้งบประมาณสถาบันกษัตริย์มีสถานะพิเศษตามไปด้วย ดังจะเห็นได้จาก

ตลอดหลายทศวรรษ ไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่มีกรรมาธิการ อภิปราย ตั้งคำถาม เสนอตัดลดงบประมาณสถาบันกษัตริย์เลย การชี้แจงของข้าราชการของส่วนราชการในพระองค์หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในโครงการต่างๆ แทบไม่ปรากฏ การพิจารณาในชั้นกรรมาธิการผ่านไปรวดเร็ว ราวกับว่าสภาผู้แทนราษฎร ตัวแทนของปวงชนชาวไทย เป็นเพียง “ตรายาง” ให้กับงบประมาณสถาบันกษัตริย์เท่านั้น

จนกระทั่งปีที่แล้ว ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้อภิปรายถึงความเหมาะสมของงบประมาณในโครงการที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์และเสนอตัดลด และในปีนี้ เบญจา แสงจันทร์ ได้อภิปรายถึงการจัดการงบประมาณสถาบันกษัตริย์กว่า 33,712 ล้านบาท

มิพักต้องกล่าวถึง ระบบการตรวจสอบการใช้งบประมาณเหล่านี้ ไม่ว่าจะโดยคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร สำนักงบประมาณ หรือสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน แทบไม่ปรากฏให้เห็น

ในความเป็นจริงแล้ว ทุกหน่วยรับงบประมาณ ทุกโครงการ งบประมาณแผ่นดินทุกบาททุกสตางค์ ต้องถูกตรวจสอบได้เสมอกัน ขึ้นชื่อว่าเอาเงินภาษีประชาชนไปใช้จ่าย ก็ต้องถูกตรวจสอบได้ งบประมาณสถาบันกษัตริย์ก็เช่นเดียวกัน ไม่อาจหลีกหนีการตรวจสอบได้

เพื่อสร้างหลักธรรมาภิบาล ความโปร่งใส ป้องกันมิให้ใครแอบอ้างหรือโหนสถาบันกษัตริย์มาเป็นเกราะกำบังตนเอง เพื่อมิให้ประชาชนหรือสังคมตั้งคำถาม สงสัย กับการใช้งบประมาณของสถาบันกษัตริย์ หรือที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ จนกระทบกระเทือนต่อสถานะและเสถียรภาพของสถาบันกษัตริย์ จึงจำเป็นต้องสร้างความโปร่งใสและความรับผิดชอบ ด้วยการเปิดโอกาสให้มีระบบตรวจสอบครบวงจร ตั้งแต่ งบประมาณสถาบันกษัตริย์ทั้งหมดต้องอยู่ในเอกสารงบประมาณรายจ่ายประจำปี สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจพิจารณาอนุมัติ คณะกรรมาธิการประจำสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจตรวจสอบติดตามการใช้งบประมาณสถาบันกษัตริย์ สำนักราชเลขาธิการต้องจัดทำรายงานการใช้งบประมาณเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินมีอำนาจตรวจสอบการใช้งบประมาณให้เป็นไปตามมาตรฐานได้

ข้อเสนอทั้งหมดนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการปกครองตามระบอบ Constitutional-Parliamentary Monarchy หลักการประชาธิปไตย และหลักการตรวจสอบการใช้งบประมาณแผ่นดิ สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติของสถาบันกษัตริย์ในนานาอารยะประเทศ ไม่ว่าจะเป็น สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น สเปน เดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม

หากยืนยันว่า เราต้องการให้สถาบันกษัตริย์ไม่ถูกวิจารณ์จากสาธารณชนมาก ต้องการให้สถาบันกษัตริย์มีสถานะความเป็นกลางทางการเมือง เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนทั้งชาติได้ ก็ต้องป้องกันไม่ให้สถาบันกษัตริย์ใช้อำนาจในแดนสาธารณะ ก็ต้องป้องกันไม่ให้สถาบันกษัตริย์เข้ามามีบทบาทในการบริหารราชการแผ่นดินทั้งทางตรงและทางอ้อม ก็ต้องป้องกันไม่ให้สถาบันกษัตริย์มีส่วนราชการของตนเองที่สั่งการได้เองเบ็ดเสร็จ หรือสามารถครอบงำสั่งการผ่านส่วนราชการอื่นได้

เมื่อไรก็ตามที่เราเปิดโอกาสให้สถาบันกษัตริย์มีบทบาทใช้อำนาจสาธารณะ มีบทบาทบริหารราชการแผ่นดินไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม มีบทบาทในการประกอบธุรกิจและการลงทุน ก็หนีไม่พ้นที่สถาบันกษัตริย์จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งคำถาม หรือตรวจสอบ ยิ่งไปกว่านั้น ยังเปิดโอกาสให้มีพวก “โหน” พวก “แอบอ้าง” สถาบันกษัตริย์เพื่อปิดปากไม่ให้มีการตรวจสอบโครงการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์อีกด้วย

ความจงรักภักดี การพิทักษ์รักษาสถาบันกษัตริย์ ไม่อาจวัดกันที่จำนวนงบประมาณ จำนวนซุ้มเฉลิมพระเกียรติ จำนวนพระบรมฉายาลักษณ์ รถ หรือเครื่องบิน

จำนวนที่มากมายไม่ได้เป็นเครื่องชี้วัดว่ารัฐสภาและรัฐบาลจงรักภักดีหรือไม่ เช่นเดียวกัน จำนวนที่มากมายก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ประชาชนรักและศรัทธาสถาบันกษัตริย์มากขึ้นหรือน้อยลง ตรงกันข้าม ความรักความศรัทธาที่ประชาชนมีให้แก่สถาบันกษัตริย์จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อเขาเห็นว่าสถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนทั้งชาติอย่างแท้จริง ยามทุกข์ ร่วมทุกข์ ยามสุข ร่วมสุข  

เมื่อประชาชนทุกคนต้องรัดเข็มขัด สถาบันกษัตริย์ก็ต้องรัดเข็มขัดด้วย

เมื่อประชาชนทุกคนยากลำบาก สถาบันกษัตริย์ก็ต้องร่วมทุกข์ร่วมสุขกับประชาชนด้วย

ลองคิดดูว่า …

หากลดจำนวนซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ลดจำนวนพระบรมฉายาลักษณ์ แล้วแปรเปลี่ยนมาเป็น สวัสดิการ วัคซีน อาหาร

หากลดความโอ่อ่า อลังการ ฟู่ฟ่า ของพระราชพิธี ของขบวนเสด็จ ของพระราชพาหนะ ของพระราชวัง แล้วแปรเปลี่ยนมาเป็น โรงเรียน โรงพยาบาล ระบบขนส่งมวลชน ที่ได้มาตรฐาน

ประชาชนจะแซ่ซ้องสรรเสริญสถาบันกษัตริย์ขนาดไหน?

นี่ต่างหาก คือ การรักษาสถาบันกษัตริย์

นี่ต่างหาก คือ การแสดงออกซึ่งความรักและศรัทธาสถาบันกษัตริย์

ถ้าต้องการรักษาสถาบันกษัตริย์ให้คงอยู่เคียงคู่กับประชาธิปไตย

ถ้าต้องการให้ประชาชนยึดมั่นและศรัทธาว่าสถาบันกษัตริย์ยังคงจำเป็นอย่างยิ่งในยุคสมัยแห่งความท้าทายเช่นนี้

ถ้าต้องการให้ประชาชนเห็นว่าสถาบันกษัตริย์ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพวกเขาในยามวิกฤติโควิด-19 วิกฤติเศรษฐกิจ

ต้องปฏิรูปการจัดการงบประมาณสถาบันกษัตริย์เสียใหม่ ลดงบ ประหยัด ตัดสิ่งฟุ่มเฟือย โปร่งใส ตรวจสอบได้

มีแต่หนทางนี้เท่านั้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า