ชวนดูงานต่างประเทศ: ศาลที่ดีคือศาลที่นำเผด็จการเข้าคุกได้

25 พฤษภาคม 2564

การไต่สวนคดีที่นูเร็มเบิร์ก

ครบรอบ 7 ปีการรัฐประหาร 22 พฤษภา

วันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคม 2564 เป็นวันครบรอบ 7 ปีของการรัฐประหารโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา การรัฐประหารครั้งที่ผ่านมาเป็นการรัฐประหารครั้งที่ 13 ของไทย แต่ไม่ว่าจะผ่านมากี่ครั้ง ผู้นำเผด็จการทหารก็แทบไม่เคยถูกลงโทษหรือดำเนินคดีอย่างเป็นกิจจะลักษณะเลย แม้แต่ครั้งที่การรัฐประหารไม่สำเร็จและถูกลดสถานะลงมาเป็นกบฎ เช่น กบฎเมษาฮาวาย ผู้ก่อการกลับได้รับอภัยโทษ หรือครั้งที่ประชาชนสละเลือดเพื่อโค่นล้มเผด็จการจนสำเร็จ ผู้ก่อการปล้นอำนาจที่เข่นฆ่าประชาชนก็ยังคงเดินลอยหน้าลอยตาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนได้อย่างหน้าไม่อาย เช่น พลเอก สุจินดา คราประยูร ในเหตุการณ์พฤษภา 2535

ซ้ำร้ายในบางกรณี เช่น กรณีของจอมพลถนอม กิตติขจร การกลับมายังประเทศไทยในฐานะสามเณรยังเป็นชนวนสำคัญที่นำไปสู่เหตุการณ์สังหารหมู่ประชาชนในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 กรณีล่าสุดในการรัฐประหาร 2557 คณะรัฐประหารก็นิรโทษกรรมตัวเองด้วยมาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญ 2560 จะเห็นได้ว่าในสังคมไทย ไม่ว่าจะการล้มล้างการปกครองและกระทำความผิดอาญามาร้ายแรงเพียงใด ผู้ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจและผู้นำเผด็จการสามารถลอยนวลอยู่ในสังคมได้เสมอ การล้มล้างผลพวงรัฐประหารยังคงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ตกค้างในสังคมไทยมายาวนาน และในปัจจุบันทวีความสำคัญขึ้นทุกที

หนึ่งในวิธีการสำคัญที่สุดสำหรับการล้มล้างผลพวงการรัฐประหารในช่วงที่ผ่านมาคือการออกแบบและแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ แม้ในอดีตรัฐบุรุษและนักการเมืองไทยหลายคนจะพยายามออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันไม่ให้การรัฐประหารเกิดขึ้นอีก เช่น รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 หรือความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ซึ่งในปัจจุบันเป็นความพยายามครั้งที่ 2 แต่เนื่องจากการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และการปฏิรูปกองทัพเป็นสิ่งที่นักการเมืองพลเรือนและภาคประชาสังคมมองข้ามมาโดยตลอด สุดท้ายแล้วการล้มล้างผลพวงรัฐประหารจึงยังไปไม่ถึงไหน และทุกครั้งที่มีข่าวลือ ข่าวลือเหล่านี้ก็ยังคงย้ำเตือนว่าการรัฐประหารเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้

ต่อให้ภาคประชาสังคม ผู้ประท้วง หรือนักการเมืองพลเรือนออกมาพูดเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การปฏิรูปกองทัพและการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างจริงจัง ก็ใช่ว่าการล้มล้างผลพวงการรัฐประหารจะประสบความสำเร็จ และใช่ว่าการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 จะเป็นครั้งสุดท้าย การยุบพรรคอนาคตใหม่และการปราบปรามผู้ประท้วงที่เรียกร้องการแก้รัฐธรรมนูญ การปฏิรูปกองทัพ และการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในปี 2563 เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นปัญหาเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี

ตราบที่ผู้มีอำนาจยังคงดื้อดึงไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง กองทัพยังไม่ถูกกำกับควบคุมโดยฝ่ายบริหารของพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง และชนชั้นนำยังคงใช้องค์กรอิสระในการปราบปรามนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม การล้มล้างผลพวงรัฐประหารคงเป็นความฝันที่เกิดขึ้นได้ยากและดำเนินไปอย่างล่าช้า

อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงใช่ว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้ หลังจากการยุบพรรคอนาคตใหม่และการประท้วงเมื่อปีที่แล้ว การต่อสู้เพื่อล้มล้างผลพวงรัฐประหารยังคงดำเนินต่อไป พรรคก้าวไกลยังคงเดินหน้าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปฏิรูปกองทัพ และยกเลิกมาตรา 112 เช่นเดียวกับที่คณะก้าวหน้ายังคงต่อสู้รณรงค์ทางความคิดเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง การต่อสู้เรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ออนไลน์และออฟไลน์ โดยเฉพาะในกลุ่มประชาชนทั่วไปและในกลุ่มนักศึกษาปัญญาชนที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอย่างถาวร ตราบที่ยังมีความฝันและมุ่งมั่นในการล้มล้างผลพวงของการรัฐประหาร ประชาชนชาวไทยก็สามารถนำเผด็จการเข้าคุกได้ไม่ต่างจากที่เคยเกิดขึ้นแล้วในนานาประเทศ 

การล้มล้างผลพวงรัฐประหารกับความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน

ในทางทฤษฎีแล้ว เราสามารถมองได้ว่าการล้มล้างผลพวงรัฐประหารเป็นส่วนหนึ่งของโจทย์เกี่ยวกับความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Transitional Justice สำหรับคำนี้ อ.ประจักษ์ ก้องกีรติเคยให้นิยามเอาไว้ว่าหมายถึง

“การแสวงหาความยุติธรรมในสังคมประชาธิปไตยที่เพิ่งพ้นจากระบอบเผด็จการที่มีการใช้ความรุนแรงต่อพลเมืองของตนเองอย่างโหดร้าย (อาจจะเป็นความรุนแรงจากระดับหนักสุดคือ ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ มาจนถึงสงครามกลางเมือง การสังหารหมู่ การลอบสังหาร การทรมาน การคุมขังหน่วยเหนี่ยวโดยผิดกฎหมาย หรือการอุ้มหาย) กลายเป็นโจทย์ใหญ่ทางที่สังคมหรือผู้นำในระบอบใหม่จำเป็นต้องเผชิญ”

ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านเป็นโจทย์ยาก เนื่องจากชนชั้นนำกลุ่มเดิมที่กระทำผิดยอมลงจากอำนาจแล้ว แต่ยังคงมีอิทธิพลในสังคมอยู่อย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้กระบวนการยุติธรรมปกติไม่เพียงพอต่อการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ อย่างไรก็ตาม ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านอาจเกิดขึ้นได้ผ่านกระบวนการ 2 รูปแบบหลัก ๆ ด้วยกัน

ในบางประเทศ ผู้นำในระบอบใหม่อาจเลือกประนีประนอมกับเผด็จการกลุ่มเดิม กรณีที่มีการประนีประนอมเช่นนี้นักวิชาการเรียกว่าการเปลี่ยนผ่านแบบมีข้อตกลงหรือภาษาอังกฤษเรียกว่า pacted transition หากการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยเกิดขึ้นในลักษณะนี้ ผู้นำระบอบใหม่มักพักการดำเนินคดีในบางประเด็นเอาไว้ก่อน หรือใช้วิธีดำเนินการอ้อม ๆ เพื่อมอบความยุติธรรมให้กับเหยื่อ เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่เกิดการยึดอำนาจซ้ำอีก

แต่ในบางประเทศฝ่ายประชาชนก็สามารถเอาชนะระบอบเผด็จการได้อย่างเด็ดขาด ในกรณีเช่นนี้เรียกว่าการเปลี่ยนผ่านแบบแตกหักหรือภาษาอังกฤษเรียกว่า ruptured transition หากการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยเกิดขึ้นในลักษณะนี้ ผู้นำในระบอบใหม่ก็อาจเลือกปะทะด้วยการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงผู้กระทำผิดโดยตรงเพื่อสร้างบรรทัดฐานความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม

ที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยพยายามใช้เครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านมาบ้างแล้ว ดังเห็นได้จากกรณีของการสังหารหมู่คนเสื้อแดงเมื่อเมษายน-พฤษภาคม 2553 เช่น การตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติหรือ คอป. เพื่อศึกษาจัดทำรายงานเกี่ยวกับการสลายชุมนุมเสื้อแดง ซึ่งเป็นโมเดลที่หลาย ๆ ประเทศเคยใช้ เช่น แอฟริกาใต้ เป็นต้น

นอกจากนี้แล้วก็ยังมีความพยายามในการฟ้องร้องคดีของโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม และความพยายามในการผลักดันให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบันกับศาลอาญาระหว่างประเทศหรือ International Criminal Court (ICC) เพื่อดำเนินคดีกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้รับผิดชอบต่อการสลายชุมนุมในขณะนั้น

แต่เนื่องจากอำนาจอธิปไตยยังไม่อยู่ในมือของประชาชนอย่างแท้จริง การเปลี่ยนผ่านและความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านจึงยังไม่เกิดขึ้น แม้ว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นในสังคมไทยหลายครั้งแล้วก็ตาม สำหรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในอนาคตนั้นจะออกมาในรูปแบบใด จะเป็นการเปลี่ยนผ่านแบบมีข้อตกลงหรือการเปลี่ยนผ่านแบบแตกหัก แล้วจะนำไปสู่ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านหรือไม่ ยังคงเป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าติดตาม

ชวนดูงานต่างประเทศ: ตัวอย่างการจับผู้นำเผด็จการมาขึ้นศาลและเข้าคุก

แม้ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านจะยังไม่เกิดขึ้นในสังคมไทย แต่การดำเนินคดีกับผู้นำเผด็จการก็เป็นหัวข้อหนึ่งประชาชนพลเมืองผู้รักประชาธิปไตยควรเตรียมศึกษาดูงานไว้ อย่างไรเสียเวลาก็อยู่ข้างความเปลี่ยนแปลง ไม่ช้าก็เร็วอำนาจอธิปไตยก็จะกลับคืนมาสู่ปวงชนอีกครั้ง เมื่อถึงเวลานั้น ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยทุกท่านจะได้เห็นแนวทางพื้นฐานว่าเราจะสามารถดำเนินคดีกับผู้ก่อการรัฐประหารได้อย่างไร หรืออย่างน้อยที่สุด ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยทุกท่านก็จะได้มีภาพในใจเป็นเป้าหมายปลายทางของการต่อสู้

หนึ่งในคำตอบที่ใฝ่ฝันได้คือการได้เห็นเผด็จการและเจ้าหน้าที่ถูกไต่สวนและจำคุกในศาลไทยหรือศาลอาญาระหว่างประเทศ !

การศึกษาดูงานในต่างประเทศมักถูกมองว่าเป็นสิ่งสิ้นเปลืองงบประมาณและเปล่าประโยชน์ และมักมีไว้สำหรับข้าราชการและเจ้าหน้าที่องค์กรอิสระเพื่อไปเที่ยวเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้เทคโนโลยีข่าวสารบนโลกออนไลน์ก้าวหน้าไปมากแล้ว การศึกษาค้นคว้าเรียบเรียงข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตช่วยให้เราเห็นข้อมูลพื้นฐานการทำงานของประเทศอื่น ๆ ได้มากขึ้น

แม้ว่าจะไม่ได้มีโอกาสพูดคุยกับเจ้าหน้าที่องค์กรต่าง ๆ ในต่างประเทศโดยตรง แต่การดูงานต่างประเทศในอินเตอร์เน็ตเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้ สิ่งที่เราจะชวนดูประชาชนทั่วไปทุกท่านไปดูงานกันในวันนี้ก็คือการมองกรณีศึกษาในต่างประเทศที่ศาลสามารถนำเผด็จการมาเข้าคุกได้ ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วเป็นประเด็นที่สำคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดที่ข้าราชการเคยไปศึกษาดูงานมาอย่างฉาบฉวย

ในชุดบทความนี้ เรื่องที่เราจะพาไปดูงานกันคือกรณีศึกษาของหลาย ๆ ประเทศ เช่น การไต่สวนที่นูเร็มเบิร์ก (เยอรมนี) กรีซ อาร์เจนตินา ชิลี หรือที่ใกล้ตัวเราที่สุดคือกรณีเขมรแดง เรื่องราวเหล่านี้จะช่วยทำให้เราเห็นประเด็นถกเถียงที่สำคัญ ๆ เกี่ยวกับการนำเผด็จการมาเข้าคุก ได้แก่

  • การนำเผด็จการมาขึ้นศาลเป็นส่วนหนึ่งของการฟ้องร้องคดีสิทธิมนุษยชนในระดับปัจเจกบุคคล
  • การนำเผด็จการมาขึ้นศาลสามารถกระทำได้ผ่าน 3 ทาง ได้แก่ ศาลภายในประเทศ ศาลต่างประเทศ และศาลระหว่างประเทศ
  • การนำเผด็จการมาขึ้นศาลไม่ใช่ “การกระตุกหนวดเสือ” อย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่ช่วยทำให้สถานการณ์สิทธิมนุษยชนดีขึ้นได้จริง
  • การนำเผด็จการมาขึ้นศาลสามารถกระทำย้อนหลังได้ แม้ว่าเหตุการณ์จะผ่านมานานแล้วก็ตาม

ในวันนี้ขอเริ่มต้นชุดบทความโดยเล่าเรื่องการไต่สวนที่ให้กำเนิดการดำเนินคดีสิทธิมนุษยชนในระดับปัจเจกบุคคลเป็นครั้งแรก ซึ่งการดำเนินคดีดังกล่าวก็คือการไต่สวนที่นูเร็มเบิร์กในปี ค.ศ. 1945

การไต่สวนที่นูเร็มเบิร์ก

การไต่สวนที่นูเร็มเบิร์ก (Nuremburg Trial) เป็นการไต่สวนเจ้าหน้าที่ระดับสูงของระบอบเผด็จการที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงในภาคพื้นทวีปยุโรปเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 1945 จากการประกาศยอมแพ้ของรัฐบาลนาซีเยอรมนี

การไต่สวนที่นูเร็มเบิร์ก บัลลังก์ผู้พิพากษา

เหตุที่ต้องไต่สวนที่เมืองนูเร็มเบิร์ก ประเทศเยอรมนี เพราะเมืองดังกล่าวเป็นสถานที่ ๆ พรรคนาซีเอาไว้เฉลิมฉลองครบรอบวันก่อตั้งของตนเอง ฝ่ายสัมพันธมิตรที่ชนะสงครามในขณะนั้นประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา บริเตน ฝรั่งเศส และสหภาพโซเวียตเจรจากันแล้วตกลงให้เมืองดังกล่าวเป็นทั้งสัญลักษณ์จุดเริ่มต้นและจุดจบของระบอบนาซีไปพร้อมกัน

การไต่สวนนูเร็มเบิร์กเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 19 พฤศจิกายน 1945 ผู้ถูกฟ้องร้องคือเจ้าหน้าที่ระดับสูง 24 คน และองค์กรรัฐบาลเยอรมนีที่มีส่วนในการอาชญากรรมสงคราม 7 องค์กร ได้แก่ แกนนำพรรคนาซี คณะรัฐมนตรีจักรวรรดิไรซ์ ชุทซ์ชตัฟเฟิล (หน่วยคุ้มครองผู้นำและกองกำลังความมั่นคงของพรรคนาซี) ซีเชอร์ไฮส์ดีนส์ (หน่วยข่าวกรอง) เกสตาโป (ตำรวจลับ) และสตอมับไทลุง (กองกำลังกึ่งทหารชุดก่อตั้งของพรรคนาซี) และหน่วยบัญชาการระดับสูงและเสนาธิการทั่วไป

องค์กรและบุคคลเหล่านี้มีส่วนร่วมในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในยุโรปกว่า 6 ล้านคน ตัวเลขนี้ยังไม่รวมผู้เสียชีวิตจากสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกกว่า 75 ล้านคน

บุคคลและหน่วยงานรัฐเหล่านี้ถูกฟ้องร้องใน 4 ข้อหาด้วยกัน ได้แก่ สมรู้ร่วมคิดเพื่อทำลายสันติภาพ วางแผนก่ออาชญากรรมสงคราม มีส่วนร่วมในอาชญากรรมสงคราม และก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ทั้งนี้ การไต่สวนนูเร็มเบิร์กถือเป็นครั้งแรกที่มีการหยิบยกข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Crime against Humanity) มาพูดถึง ในเวลาต่อมา องค์การสหประชาชาติได้นำผลการไต่สวนที่นูเร็มเบิร์กมาพัฒนาเป็นหลักการเพื่อพิจารณาคดีอาชญากรรมสงครามอื่น ๆ ด้วยโดยมีชื่อเรียกว่าหลักการนูเร็มเบิร์ก (Nuremburg Principles)

จากผลการไต่สวนที่นูเร็มเบิร์ก เจ้าหน้าที่ระดับสูงของระบอบนาซีหลายคนถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการแขวนคอหรือจำคุกตลอดชีวิต บางคนเสียชีวิตไปก่อนมีการพิจารณาคดีแล้ว แต่ก็มีบางคนถูกตัดสินว่าไม่มีความผิดด้วย ในระหว่างการไต่สวน จำเลยเหล่านี้มักอ้างว่าต้องปฏิบัติตามคำสั่งของฮิตเลอร์ตามที่ได้ให้สัตย์ปฏิญาณไว้ หรือข้ออ้างที่คนไทยรู้จักกันดีคือ “นายสั่งมา”

กรณีที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินคดีที่นูเร็มเบิร์กคือเรื่องราวของอดอล์ฟ ไอช์มันน์ (Adolf Eichmann) เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลนาซีที่ลักลอบหนีไปซ่อนตัวอยู่ในอาร์เจนตินา ต่อมาถูกหน่วยข่าวกรอง (หรือมอสซาด) ของอิสราเอลจับได้และควบคุมตัวเขาไปดำเนินคดีที่กรุงเยรูซาเล็ม ไอช์มันน์ใช้ข้ออ้างเดียวกันในการปกป้องตัวเองคือ “นายสั่งมา” แต่ก็ไม่วายถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ เนื่องจากเป็นผู้ขนส่งชาวยิวไปสังหารหมู่ที่ค่ายกักกันเอาช์วิทซ์ ซึ่งอยู่ในประเทศโปแลนด์

ส่วนหนึ่งที่ไอช์มันน์ถูกตัดสินประหารชีวิตก็เนื่องจากศาลอิสราเอลอ้างอิงคำพิพากษาที่นูเร็มเบิร์กซึ่งตัดสินว่า 3 องค์กรที่ไอช์มันน์สังกัดอยู่มีความผิด และเนื่องจากทั้ง 3 องค์กรที่ไอช์มันสังกัดถูกตัดสินว่ามีความผิด ไอช์มันน์จึงต้องมีความผิดด้วย อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ไอช์มันน์ถูกประหารชีวิตมาจากพยานหลักฐานที่บ่งชี้ว่าไอช์มันไม่ได้เพียงแค่ทำตามที่ “นายสั่งมา” เท่านั้น แต่ยังหลงรักระบอบนาซีและปฏิบัติหน้าที่ในการสังหารชาวยิวอย่างภาคภูมิใจ การแขวนคอไอช์มันน์ถือเป็นเหตุการณ์ที่เผด็จการทั่วโลกพึงสังวรณ์ เพราะหากวันใดท่านหมดอำนาจ ท่านก็อาจถูกพิพากษาต้องโทษอาญาได้เช่นกัน

อดอล์ฟ ไอช์มันน์ ในวาระสุดท้ายของชีวิต ปี 1961 ที่เรือนจำอายาลอน ประเทศอิสราเอล

การตัดสินคดีของไอช์มันน์นำไปสู่งานเขียนอันโด่งดังของนักทฤษฎีการเมืองคนสำคัญในศตวรรษที่ 20 อย่างฮันนา อาเรนท์ นอกจากงานเขียนเรื่อง Eichmann in Jerusalem ที่พูดถึง “ความสามัญธรรมดาของความชั่วร้าย (banality of evil)” แล้ว ยังมีงานเรียงความเรื่อง Personal Responsibility under Dictatorship ที่เขียนขึ้นมาเพื่อหักล้างข้ออ้างเรื่อง “นายสั่งมา” อย่างหนักแน่น มนุษย์คือปัจเจกบุคคลที่สามารถคิดหาเหตุผลเองได้ การตัดสินใจสนับสนุนระบอบเผด็จการจึงเป็นความชั่วร้ายส่วนบุคคลที่คนๆ นั้นต้องรับผิดชอบด้วย งานชิ้นหลังนี้ได้รับการแปลเป็นฉบับภาษาไทยแล้ว โดยเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และวศินี พบูประภาพ

การไต่สวนคดีที่นูเรมเบิร์กเป็นการตัดสินคดีสิทธิมนุษยชนคดีแรก ๆ ในศตวรรษที่ 20 โดยทำผ่านช่องทางศาลระหว่างประเทศ ซึ่งมีผู้พิพากษาจากสหภาพโซเวียต สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และบริเตน เป็นผู้พิจารณาคดี แม้การตัดสินคดีครั้งนี้จะเป็นหมุดหมายสำคัญของการฟ้องร้องคดีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ แต่การฟ้องคดีสิทธิมนุษยชนกจะยังคงมีสภาพจำกัดจำเขี่ยต่อมาอีกหลายทศวรรษ เนื่องจากขณะนั้นยังมีความเข้าใจอย่างแพร่หลายอยู่ว่าการดำเนินคดีกับผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนจะสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อชนะสงครามอย่างเบ็ดเสร็จเท่านั้น

แม้จะแทบไม่มีการดำเนินคดีทางสิทธิมนุษยชนอีกเลยเป็นเวลาหลายสิบปี แต่การดำเนินคดีทางสิทธิมนุษยชนจะกลับมาอีกครั้งที่ประเทศกรีซในปี ค.ศ. 1975 ซึ่งเราจะพาไปศึกษาดูงานกันในตอนต่อไป

อ้างอิง

ประจักษ์ ก้องกีรติ, ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน: เมื่อโลกไม่หันหลังให้โศกนาฏกรรม, ประชาไท, 17 พ.ย. 2553

Sikkink, Kathryn, 1955-. The Justice Cascade : How Human Rights Prosecutions Are Changing World Politics. New York :W. W. Norton & Co., 2011.

Nuremberg Trials, Wikipedia, เข้าถึงเมื่อ 20 พ.ย.2564

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า