เมื่อรัฐก่อ “นิติสงคราม” กับประชาชน เราจะหยุดยั้งมันได้อย่างไร?

16 พฤษภาคม 2564

รัฐ คือ อำนาจที่ถูกทำให้เป็นสถาบัน (Institutionalisation of Power) เป็นผู้ผูกขาดการใช้ความรุนแรงอันชอบธรรม ใช้กำลังบังคับผ่านสิ่งที่ให้ชื่อว่า “กฎหมาย” โดยมีองค์กรของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นผู้ปฏิบัติการใช้กำลังเหล่านี้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ศาล-ทหาร-คุก-ตำรวจ” ที่เป็นองค์กรและเจ้าหน้าที่ผู้ผูกขาดการใช้กลไกรัฐด้านการปราบปราม (Appareil répressif d’Etat)

เมื่อรัฐเป็นผู้ผูกขาด “กฎหมาย” ยึดกุมกระบวนการยุติธรรมในคดีอาญาไว้ทั้งปวง ตั้งแต่ นักร้องเรียนรับจ้าง พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ ผู้พิพากษา ราชทัณฑ์ ยามใดที่ประชาชนประท้วงหรือลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลหรือผู้ปกครองจนเกินขอบเขตที่รัฐจะไม่ทนอีกต่อไป การใช้ “กฎหมาย” เข้าบดขยี้ประชาชนย่อมเกิดขึ้น

นิติสงคราม คืออะไร?

“นิติสงคราม” หรือ “Lawfare” เป็นการเล่นกับคำว่า “Warfare” ที่แปลว่าการสงคราม แทนที่รัฐจะใช้อาวุธยุทโธปกรณ์เข้าทำสงครามกับประชาชน ก็เปลี่ยนมาใช้กฎหมายเข้าทำสงครามกับประชาชนแทน ดังนั้น “นิติสงคราม” จึงหมายถึง การกำจัดศัตรูหรือฝ่ายตรงข้ามที่ต่อต้านรัฐหรือรัฐบาลโดยใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือ

ลักษณาการของ “นิติสงคราม”

หนึ่ง ใช้กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม คดีความ เป็นอาวุธ ไม่ได้ใช้ปืน ดาบ รถถัง ยุทโธปกรณ์

สอง ใช้กระบวนการในระบบกฎหมาย ตั้งข้อหา สอบสวน สั่งฟ้อง พิจารณาคดี พิพากษาลงโทษ ไม่ได้ใช้กระบวนการนอกระบบกฎหมาย เช่น อุ้มฆ่า อุ้มหาย ลักพาตัวไปซ่อน ยิงทิ้ง

สาม ใช้กระบวนการทางสื่อและความเห็นของสาธารณชนเข้าสนับสนุน ด้วยการโหมประโคมโฆษณาชวนเชื่อจนทำให้สังคมและคนจำนวนมากเชื่อไปก่อนแล้วว่า ผู้ประท้วงเหล่านี้มีความผิดจริง ก่อความไม่สงบจริง ใช้ความรุนแรงจริง โดยอาจใช้ภาพสื่อ เฟคนิวส์ ใช้สื่อที่เป็นกระบอกเสียงของตนพูดซ้ำๆ ย้ำๆ ทุกวันเพื่อด้อยค่าผู้ชุมนุม เมื่อสังคมและคนจำนวนมากคิดล่วงหน้าไปเช่นว่าหมดแล้ว ต่อให้กระบวนการทางกฎหมายจะบิดเบี้ยวอย่างไร พวกเขาก็ไม่สนใจ เพราะในสำนึกรับรู้ของพวกเขา ต้องการให้ผู้ประท้วงถูกลงโทษ

สี่ ใช้กระบวนการทางกฎหมายทำให้เป็นเรื่องเทคนิควิธี รายละเอียดหยุมหยิม กลบหลักการคุณค่าพื้นฐานไปเสียหมด เช่น แทนที่คนจะคิดว่าผู้ประท้วงต้องได้ประกันตัวตามสิทธิขั้นพื้นฐาน ก็ไปคิดว่าผู้ประท้วงไม่ได้ประกันตัวเพราะ โง่เอง ไม่รู้กฎหมาย ไม่รู้เทคนิควิธีให้ได้ประกัน หรือ เห็นใจผู้ประท้วงที่ต้องรับโทษอยู่เหมือนกันนะ แต่ทำไมไม่สู้คดีแบบนี้ล่ะ เสียดาย ไม่น่าเลย พลาดง่ายๆ ทางกฎหมาย ถ้าเก่งกฎหมายสักหน่อย ก็รอดแล้ว เป็นต้น

วิธีการของ “นิติสงคราม”

หนึ่ง ตั้งข้อหากวาดกองไว้ให้หมด ไล่เรียงไปตั้งแต่ ความผิดตามกฎหมายรักษาความสะอาด ความผิดตามกฎหมายการใช้เครื่องขยายเสียง ความผิดตามกฎหมายจราจร ความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ความผิดฐานสั่งให้เลิกการชุมนุมแล้วไม่เลิก ความผิดตามกฎหมายการชุมนุมสาธารณะ ความผิดตามกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉิน ความผิดตามกฎหมายป้องกันโรคระบาด ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ความผิดฐานดูหมิ่นศาล ความผิดตามกฎหมายคอมพิวเตอร์ ความผิดฐานยุยงปลุกปั่นตาม ป.อาญา มาตรา 116 ความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตาม ป.อาญา มาตรา 112

ในบางกรณีตำรวจก็ริเริ่มเอง ในบางกรณีก็มี “นักร้องรับจ้าง” ในสังกัดทำหน้าที่แจ้งความ ร้ององค์กรอิสระ หรือฟ้องศาล

สอง ตั้งข้อหาเกินจริง โทษสูงๆ เป็นเรื่องความมั่นคง เพื่อให้ออกหมายจับได้ จับซึ่งหน้าได้ ตั้งหลักทรัพย์ประกันสูงๆ หรือเป็นเหตุให้ไม่ได้ประกันตัวได้

สาม “จับๆ ปล่อยๆ ” โดยเริ่มดำเนินคดี ศาลให้ประกัน ยังไปชุมนุมอีก จับใหม่ ศาลไม่ให้ประกัน คุมขังไว้ เมื่อได้ประกันตัว ก็ต้องทำตามเงื่อนไข ไม่ทำตาม จับใหม่ ขังใหม่ พิพากษาจำคุก กระบวนการทั้งหมดนี้ ผู้ปฏิบัติการในนิติสงครามก็จะพิจารณาเลือกใช้ตามสถานการณ์ ผ่อนหนัก ผ่อนเบา ตามแต่ละช่วงเวลาและบริบท

สี่ กอด “กฎหมาย” เป็นเกราะคุ้มกัน อ้างว่าทำตามกฎหมาย ถ้าไม่พอใจก็ไปฟ้องกลับ ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ทำ จะโดน 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

ห้า บิดผันผู้ประท้วงต่อต้านรัฐ ให้กลายเป็น ผู้ไม่เคารพกฎหมาย ก่อความไม่สงบ ทำให้ประเด็นการเมืองหายไปจากการชุมนุม (depolitisation) กลายเป็นเรื่องของก่อการร้าย เผาบ้านเผาเมือง ทุบรถ เผารถ ทำลายสถานที่ราชการ

เป้าหมายของ “นิติสงคราม”

หนึ่ง จำกัดเสรีภาพการแสดงออก จำกัดตีกรอบการประท้วงต่อต้านให้ได้มากที่สุด

สอง ผู้ชุมนุมต้องรับภาระทางคดีความ มีคดีความเป็น “หอก” ปักหลังไว้ทำให้เคลื่อนไหวไม่สะดวก เสียเวลา เสียเงิน เสียสมาธิ เสียกำลังคน กำลังกาย กำลังใจ

สาม ข่มขู่ให้ผู้อื่นที่เข้าร่วมการชุมนุมแล้วหรือกำลังคิดจะเข้าร่วม เกิดอาการกลัว กังวล ไม่กล้ามาร่วมชุมนุม ไม่กล้าแสดงออก ยอมกลับไปอยู่ใน “พื้นที่สะดวกสบาย – comfort zone” ต่อไป

สี่ สร้างบรรทัดฐานให้ประชาชน “อยู่กับระบอบเผด็จการ” ให้เป็น อย่าริอ่านมาต่อต้าน

ห้า ปฏิบัติการในนาม “กฎหมาย” “กระบวนการยุติธรรม” ทำให้การปราบปรามรุนแรงอยู่ภายใต้หน้ากากของกฎหมาย แลดูมีความชอบธรรมมากขึ้น

หก เบี่ยงเบนเป้าหมายใหญ่ของการประท้วงต่อต้าน ให้มาสนใจอยู่กับการณรงค์ “ปล่อยเพื่อนเรา” จากเดิมที่เรียกร้องเป้าหมายใหญ่ ก็ต้องมาเรียกร้องต่อสู้กับตำรวจ อัยการ ศาล แทน ประเด็นสำคัญของการรณรงค์ที่อยู่ในสื่อและพื้นที่สาธารณะถูกเบียดขับออกไปและแทนที่ด้วยประเด็นปฏิบัติการของตำรวจ การใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมแทน ในขณะที่รัฐบาลก็ลอยตัว อ้างว่าเป็นเรื่องของศาล รัฐบาลแทรกแซงไม่ได้

วงจรอุบาทว์ “นิติสงคราม VS การประท้วงต่อต้านรัฐ”

ประชาชนชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐหรือรัฐบาล —-> รัฐหรือรัฐบาลประเมินว่าการต่อต้านนั้นเกินขอบเขตที่จะอดทนได้ —-> ตำรวจเข้าจับกุม, ตั้งข้อหาเกินจริง, ตั้งข้อหากวาด, รัฐส่ง “นักร้องรับจ้าง” ในสังกัดไปแจ้งความ —-> เริ่มดำเนินคดี ออกหมายเรียก ออกหมายจับ คุมตัวชั่วคราว —-> ประชาชนรับภาระทางคดี เสียเวลา เสียเงินทองไปกับการถูกดำเนินคดี เสียสมาธิไปจากการต่อสู้ —-> ประชาชนถูกจำกัดเสรีภาพ แสดงออกไม่ได้เต็มที่ —-> ผู้คนหวาดกลัว ไม่กล้าแสดงออก —-> เรียกร้องให้ “ปล่อยเพื่อนเรา” —-> เป้าหมายใหญ่ของการชุมนุมถูกเบี่ยงประเด็นไปเป็นเรื่อง “ปล่อยเพื่อนเรา” กระบวนการยุติธรรม การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ ศาล —-> ปล่อยตัวชั่วคราว —-> กลับมาชุมนุมใหม่ —-> จับกุมคุมขังใหม่ ใครที่ถูกประเมินว่าอันตราย ก็ถูกพิพากษาให้จำคุก —-> เริ่มกลับมาตั้งขบวนต่อสู้ใหม่ —-> รัฐทนไม่ได้ เริ่มจับใหม่ ก่อนิติสงครามรอบใหม่

วนอยู่แบบนี้เรื่อยไป และการวนอยู่ในวงจรอุบาทว์ “นิติสงคราม” นี้ แต่ละครั้งๆ นอกจากบั่นทอนกำลังใจ กำลังกาย กำลังสมอง ของการต่อสู้ไปได้เรื่อยๆ ยังทำให้ “เส้นแบ่ง” หรือ “กรอบ” ของการต่อสู้หดแคบลงเรื่อยๆ อีกด้วย

เราจะหยุดยั้งและรับมือกับ “นิติสงคราม” ได้อย่างไร?

เมื่อรัฐผูกขาดความรุนแรงในนาม “กฎหมาย” พร้อมบดขยี้ย่ำยีบีฑาประชาชนได้เช่นนี้ ประชาชนมือเปล่าจะต่อสู้ได้อย่างไร?

บททดลองนำเสนอให้พิจารณา มี 6 ข้อ ดังนี้

หนึ่ง เมื่อเขาใช้กฎหมาย ก็ต้องหาวิธีที่ไม่โดนกฎหมายเล่นงาน : ปฏิบัติการทางตรง หรือ “Direct Action” แบบ “ลอด-รอด” กฎหมาย

เมื่อรัฐมี “กฎหมาย” เป็นอาวุธ ประชาชนก็ต้องคิดหาวิธีปฏิบัติการประท้วงต่อต้านที่ “ลอดผ่าน” กฎหมาย และ “รอดพ้น” จากกฎหมาย เมื่อเราลงมือปฏิบัติการแล้ว พวกเขาใช้กฎหมายเอาผิดเราไม่ได้ หรือหากใช้กฎหมายเอาผิดได้ ก็เป็นกฎหมายที่เป็นความผิดเล็กน้อยๆ

อย่างไรก็ตาม ปฏิบัติการ “ลอด-รอด” กฎหมายอย่างเดียวยังไม่พอ ปฏิบัติการยังต้อง “ยิงตรง” เข้าไปที่ “กล่องดวงใจ” ของคู่ต่อกรด้วย

กล่าวคือ ปฏิบัติการนั้นทำให้คู่ต่อกรของผู้ประท้วงได้รับผลกระทบ กลัว กังวล ตระหนกตกใจ จนคิดว่าหากปฏิบัติแบบเดิม ใช้อำนาจแบบเดิมต่อไปจะทำร้ายทำลายตัวเขา ทำให้เขาเสียประโยชน์ จนเขาต้องตัดสินใจหยุดปฏิบัติการแบบเดิม

การประท้วงผ่านการแสดงออกทางสัญลักษณ์ เช่น ยืนประท้วงโดยสงบ นั่งประท้วงโดยสงบ หรือการประท้วงด้วยการอุทิศชีวิตร่างกายตนเอง เช่น การอดอาหาร การกรีดเลือด หรือการเขียนแถลงการณ์หรือจดหมายเปิดผนึกและให้คนร่วมลงชื่อมากๆ ทั้งหมดนี้ อาจเป็นปฏิบัติการ “ลอด-รอด” กฎหมาย เอาผิดทางกฎหมายไม่ได้แน่ๆ แต่มันยังเป็นปฏิบัติการที่ “ยิงตรง” ไม่พอ จริงอยู่ การแสดงออกทางสัญลักษณ์เหล่านี้อาจช่วยให้สังคมหันมาตระหนักและให้ความสำคัญ อาจช่วยให้ “พลังเงียบ” กล้าออกมาร่วมแสดงออกมากขึ้น หรือหากสำเร็จมากไปกว่านั้น ก็อาจกระตุ้นให้คนโกรธออกมาประท้วงมากขึ้น แต่ทั้งหมดนี้ยังไม่เพียงพอหยุดยั้งผู้ปฏิบัติการในนิติสงครามได้ พวกเขาอาจไม่สนใจ ไม่สะทกสะท้านกับการแสดงออกทางสัญลักษณ์เท่าไรนัก เพราะ รู้ว่าทำอะไรพวกเขาไม่ได้ ไม่เจ็บ ไม่ปวด ไม่รู้สึก ไม่สำนึก ไม่ทำให้เขาเสียประโยชน์ หนำซ้ำ อาจคิดกล่อมประสาทตนเองด้วยซ้ำไปว่า ต่อให้มีคนประท้วงทางสัญลักษณ์อย่างไร มากเท่าใดก็ตาม เขาก็ยังคงตัดสินตามเดิม เพราะ เขาเป็นอิสระ ไม่อยู่ภายใต้แรงกดดันใดๆ

มีปฏิบัติการมากมายที่เป็น Direct Action ทิ่มแทงตรงไปที่ “กล่องดวงใจ” ของพวกเขา จนทำให้พวกเขาไม่กล้าทำแบบเดิม จะคิดค้นปฏิบัติการเหล่านี้ได้อย่างไรก็สุดแท้แต่จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของผู้ชุมนุม แต่มีแนวคิดที่พอนำไปใช้ได้อยู่ ก็คือ เมื่อไรก็ตามที่ประชาชนต้องการลงมือกระทำการใด ต้องคิดแล้วคิดอีก ทำแบบนี้ จะโดนคดีหรือไม่ ทำแบบนั้น จะโดนจับหรือไม่ ทำแบบโน้น จะเดือดร้อนต่อครอบครัวหรือไม่ นี่แหละ คือเหตุปัจจัยบังคับประชาชนให้ยับยั้งชั่งใจทุกครั้งก่อนลงมือ ในขณะที่ “ศาล-ทหาร-คุก-ตำรวจ” ลงมือปฏิบัติการนิติสงครามได้อย่างเต็มที่ ไม่กังวล ไม่เกรงกลัว เพราะคิดว่า ไม่มีใครทำอะไรเขาได้ ทำให้เขาไม่ต้องยับยั้งชั่งใจใดๆ จากนั้นลองจินตนาการกลับกันว่า ถ้าเราเป็น “ศาล-ทหาร-คุก-ตำรวจ” จะมีเหตุปัจจัยใดที่ทำให้เราต้องยับยั้งชั่งใจก่อนตัดสินใจกระทำการใด จะมีเหตุปัจจัยใดที่ยับยั้งเราให้หยุดไม่ปฏิบัติการนิติสงครามแบบเดิม

สอง เมื่อถูก “นิติสงคราม” กระทำ ก็ใช้มันเป็นเวทีในการต่อต้านไปเสียเลย

ผู้ชุมนุมที่ถูกดำเนินคดี อาจใช้ “คดีความ” นั้นเป็นเวทีในการแสดงออกเพื่อต่อต้านรัฐได้ เช่น แถลงต่อศาลเพื่อโจมตีรัฐหรือรัฐบาล โต้เถียงกับตำรวจพร้อมทั้งบันทึกคลิปเผยแพร่ หากใครมีความรู้ทางกฎหมายอยู่บ้าง ก็ใช้เวที “นิติสงคราม” บรรยายสอนกฎหมายให้พวกเขา

นอกจากนี้ ต้องช่วยกันใช้เวที “นิติสงคราม” ทำให้คนเห็นว่า นี่ไม่ใช่ “กฎหมาย” แต่มันคือ “ปืน” นี่ไม่ใช่การบังคับใช้กฎหมาย แต่มันคือ การปราบปรามรุนแรงที่มองไม่เห็น การปราบปรามรุนแรงที่ซุกซ่อนเข้าไปอยู่ในเสื้อผ้าอาภรณ์ที่ชื่อ “กฎหมาย”

สาม เมื่อเขาใช้ “นิติสงคราม” เราก็ใช้ “นิติสงคราม” โต้กลับไปบ้าง

เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องการใช้กฎหมายมาจำกัดเสรีภาพของผู้ชุมนุม อย่างน้อยๆ ก็เป็นการชั่วคราว ในหลายกรณี พวกเขาไม่ได้เล็งเห็นผลเลิศถึงขนาดต้องการให้ศาลพิพากษาจำคุก เร่งทำสำนวนฟ้องๆ ไปก่อน เร่งทำคดี เพื่อให้ศาลไม่ให้ประกันตัวไปก่อน ดังนั้น การตั้งข้อหา การทำสำนวน การสั่งฟ้องต่างๆ จึงดำเนินการอย่างหละหลวม ไม่ละเอียดรอบคอบ และไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ฝ่ายผู้ชุมนุมที่ถูกกระทำจึงควรตั้งกลุ่มเฉพาะรับหน้าที่ฟ้องคดีเจ้าหน้าที่กลับไปบ้าง ตั้งแต่ นักร้องเรียนรับจ้าง ตำรวจ พนักงานอัยการ ผู้พิพากษา โดยมีฐานความผิดที่อาจนำมาใช้ได้ เช่น การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การแจ้งเท็จ หรือ การเข้าชื่อถอดถอนออกจากตำแหน่ง การร้องเรียนให้ดำเนินการทางวินัย ตลอดจนการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนทางแพ่งในฐานละเมิด

อนึ่ง ในอนาคต ประเทศไทยสมควรตรากฎหมายกำหนดฐานความผิด “บิดเบือนกฎหมาย” ขึ้นมา ทำนองเดียวกับที่ปรากฏในระบบกฎหมายเยอรมัน เพื่อใช้ลงโทษบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งหลายที่ใช้กฎหมายและกระบวนการทางกฎหมายแบบบิดเบือน ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ เพื่อกลั่นแกล้งผู้อื่น ปัจจุบัน ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้เสนอร่างพระราชบัญญัตินี้ต่อสภาผู้แทนราษฎรแล้ว

สี่ เมื่อใช้วิธีเดิมแล้วคดีเต็มตัว ก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการต่อสู้ประท้วงใหม่

ในกรณีที่การประท้วงต่อต้านของผู้ชุมนุมทำให้ถูกกระหน่ำโดย “นิติสงคราม” มีผู้ถูกดำเนินคดี จับกุม คุมขัง จำนวนมาก จนเสียขบวน เสียกำลังคน กำลังกาย กำลังใจ เวลา และเงินทอง จนทำให้เป้าหมายใหญ่ของการประท้วงต่อต้านเลือนหายไป หากเดินหน้าประท้วงต่อต้านในรูปแบบเดิมต่อไป ก็คงเจอคดีมากขึ้นอีก ดังนั้น จำเป็นต้องทดลองเปลี่ยนวิธีการดูบ้าง เพื่อออกจากกับดัก “นิติสงคราม”

วิธีการประท้วงหนึ่งอาจได้ผลในช่วงเวลาหนึ่ง แต่เมื่อรัฐกระหน่ำคดีความเข้าใส่มากขึ้น ก็อาจต้องเปลี่ยนวิธี ลองทบทวนประเมินว่า การชุมนุมที่ผ่านมานั้นมีวิธีรูปแบบใดที่รัฐยอม มีวิธีรูปแบบใดที่รัฐไม่ถอยให้แม้แต่ก้าวเดียว มีวิธีรูปแบบใดที่ชุมนุมแล้วไม่ถูกคดีใดๆ แล้วปรับประยุกต์ใช้ตามสถานการณ์

ห้า เมื่อระบบต้องใช้คน ก็ส่งคนแทรกซึมเข้าไปในระบบ

รัฐผูกขาดความรุนแรงผ่านกลไกด้านการปราบปรามโดยมี “ศาล-ทหาร-คุก-ตำรวจ” กลไกเหล่านี้ ต้องมีคนเข้าไปปฏิบัติการ คนคนเดียวย่อมไม่พอ ต้องมีหลายร้อย หลายพัน หลายหมื่นคน เมื่อมีคนมาก ก็ย่อมมีคน “แตกแถว” อยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ห้วงยามที่ “อำนาจนำ” แบบเดิมกำลังจะจบสิ้นไป ไม่ได้การยอมรับนับถือหรือยินยอมพร้อมใจได้ดังเดิมแล้วล่ะก็ โอกาสที่จะมีเจ้าหน้าที่พร้อมแตกแถวก็มีมากขึ้น

ในระยะสั้น ให้สำรวจหาตำรวจ พนักงานอัยการ ผู้พิพากษา ข้าราชการที่ทำงานในกระบวนการยุติธรรม ที่มีความคิดแบบเดียวกับผู้ชุมนุมประท้วง จดบันทึกจดจำเขาเหล่านั้นไว้ หาช่องทางติดต่อกันโดยลับ ส่งข่าว แลกเปลี่ยนข้อมูล พยายามหาวิธีให้ข้อพิพาทคดีความต่างๆ ไปอยู่ในมือของพวกเขาเหล่านั้น

ในระยะกลาง พบปะพูดคุย จัดตั้งความคิด กลับไปนัดเจอเพื่อนเก่าที่เคยเรียนด้วยกันมาแล้วตอนนี้ไปเป็น “คนในระบบ” โน้มน้าวคนในระบบที่พอพูดคุยกันได้ ให้พวกเขาตระหนักเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ใกล้มาถึง อย่าจมอยู่กับอำนาจเก่า “หมาใกล้ตาย เห็บต้องเตรียมกระโดด” และชวนมาร่วมการเปลี่ยนแปลงนี้

ในระยะยาว ต้องสร้างคนเข้าระบบ ที่ผ่านมา ฝ่ายที่มีความคิดต่อสู้ประท้วงรัฐมักอยู่นอกกลไกรัฐเสมอ ฝ่ายก้าวหน้ามักไปเป็นนักกิจกรรม เอ็นจีโอ นักวิชาการ สื่อมวลชน หลังๆ ก็เริ่มมาเป็นนักการเมืองบ้าง แทบไม่มีคนคิดต่อต้านอำนาจเข้าไปอยู่ในกลไกรัฐเลย ดังนั้น เราอาจต้องเริ่มคิดกลับด้านเสียใหม่ ไม่ใช่สร้างคนเข้ามาอยู่ภาคสังคมเพื่อต่อต้านอำนาจรัฐเท่านั้น แต่ต้องสร้างคนเข้าไปอยู่ในระบบเพื่อต่อต้านระบบด้วย เราต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ รณรงค์กับนักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน ที่มีความคิดฝ่ายประชาธิปไตย มีหัวก้าวหน้า จัดตั้งความคิดกันตั้งแต่วันนี้ แล้วสนับสนุนพวกเขาให้เข้าเรียนกฎหมาย เรียนสาขาวิชาที่จะได้เข้าไปเป็นกลไกในระบบ ระหว่างเส้นทาง ก็ประสานติดต่อพูดคุยกันเสมอ ปลูกฝังความคิด สร้างคนเข้าไป จนพวกเขาได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลไกรัฐ มีบทบาทในการใช้อำนาจรัฐ

หก เมื่อพัวพันอยู่กับ “นิติสงคราม” ก็อย่าลืมเป้าหมายใหญ่

การประท้วงต่อต้านรัฐต้องมีเป้าหมายใหญ่อยู่เสมอ เช่น การขับไล่รัฐบาล การต่อต้านทุนนิยม จักรวรรดินิยม การเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ การเรียกร้องสวัสดิการ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐปฏิบัติการ “นิติสงคราม” กับผู้ประท้วงต่อต้านมากขึ้น ก็อาจทำให้เป้าหมายใหญ่เหล่านี้เลือนหายไป

ดังนั้น ผู้ชุมนุมประท้วงต้องระลึกไว้อยู่เสมอว่า เราต่อสู้กับอะไร เพื่อเป้าหมายใด พึงระมัดระวังอย่าติดกับดัก “นิติสงคราม” จนไม่สามารถเดินหน้าต่อสู้ได้ แม้อาจมีบางช่วงที่เสียเวลาและพลังงานไปกับ “นิติสงคราม” เมื่อตั้งหลักได้ ก็ต้องกลับมาที่ข้อเสนอ ข้อเรียกร้องของการรณรงค์เสมอ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า