“จิตร ภูมิศักดิ์” นักตั้งคำถามแห่งยุคสมัย – ต้นแบบเยาวชนคนรุ่นใหม่

6 พฤษภาคม 2564

วันนี้เมื่อ 55 ปีที่แล้ว ณ บ้านหนองกุง ต.คำบ่อ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร “สหายปรีชา” ถูกรุมยิงเสียชีวิตตรงชายป่าท้ายหมู่บ้าน ในยุคสมัยนั้นที่สังคมไทยถูกปลุกปั่นให้เกลียดกลัว “ภัยคอมมิวนิสต์” จนสามารถเข่นฆ่ากันได้อย่างง่ายดาย เพียงแค่เขามาขอข้าวกิน

ใช่, “สหายปรีชา” ก็คือ “จิตร ภูมิศักดิ์” นักคิดนักเขียนปัญญาชน หรือใครจะแย่งชิงนิยามให้เขาเป็นนักปฏิวัติอย่างไรก็แล้วแต่ ที่แน่ๆ หากเมื่อลองย้อนกลับไปศึกษาชีวิตและผลงานของเขา สิ่งหนึ่งที่รู้สึกได้ตรงกันนั่นก็คือ จิตรเป็นนักตั้งคำถามคนสำคัญของยุคสมัย และคือบุคคลที่ “คนรุ่นใหม่” ควรยึดถือเป็นแบบอย่าง

เด็กชายจาก จ.ปราจีนบุรี ที่ไปเติบโตอยู่ จ.พระตะบอง ครั้งที่เป็นส่วนหนึ่งของสยามหลังฝรั่งเศสแพ้สงครามอินโดจีน พ่อของจิตรรับราชการที่นั่น และต่อมาครอบครัวเขาก็ต้องผ่านประสบการณ์ย้ายครอบครัวกลับสยาม เพราะต้องคืนดินแดนให้กับฝรั่งเศส หลังเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด ซึ่งฝรั่งเศสอยู่ฝ่ายชนะและไทยอยู่ฝ่ายแพ้ กระแสชาตินิยมไหลเวียนอยู่ในตัวจิตรไม่ต่างจากคนอื่นๆ

หรือแม้แต่ความใฝ่ฝันของเขาในวัยวันนั้น จิตรอยากเป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิต ผลงานของเขาคือสิ่งยืนยัน โดยเฉพาะบทกวีที่เป็นขนบ มีศัพท์แสงยุ่งยากรกรุงรัง หรือนิราศ ก็เป็นงานที่ชนชั้นสูงมักนิยมแต่งเวลาเดินทาง และแม้แต่จดหมายที่มีไปถึง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ นั้นก็เป็นจริตของชนชั้นสูง

ทั้งหมดนี้คือบรรยากาศหลังรัฐประหาร 2490 ซึ่งว่ากันว่า เป็นจุดสิ้นสุดของยุค “คณะราษฎร” และเริ่มการฟื้นอำนาจฝ่าย “กษัตริย์นิยม”

อย่างไรก็ตาม จุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตจิตร ก็เกิดขึ้นในปี 2496 ขณะที่เขาเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จิตรได้รับมอบหมายให้เป็นสาราณียกร จัดทำหนังสือ “มหาวิทยาลัย 23 ตุลาคม 2496” ซึ่งมีขนบ มีรูปแบบในการทำซ้ำๆ ตามๆ กันมา ทว่าจิตรกลับดันไปเปลี่ยนทั้งรูปแบบ โดยไม่นำพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 ขึ้นปก และเนื้อหา ซึ่งล้วนอัดแน่นด้วยบทความที่ก้าวหน้าเป็นอย่างมากในยุคนั้น

“บทกวี” และ “บทความ” บางชิ้นในหนังสือเล่มนี้ ถูกกล่าวหาว่า “เป็นซ้าย” เอียงไปทางคอมมิวนิสต์ ทำให้จิตรถูกนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์กลุ่มหนึ่ง จับโยนลงจากหอประชุมในวันไต่สวนเรื่องนี้ หรือที่เรารู้จักกันดีกรณีที่เรียกว่า “โยนบก” และต่อมาจิตรก็ถูกมหาวิทยาลัยทำโทษให้พักการเรียนเป็นระยะเวลา 1 ปี

มหาวิทยาลัยผลักให้จิตรไป “เป็นซ้าย” จริงๆ ในช่วงที่พักการเรียนนี้เอง ที่เขาได้มีโอกาสรู้จักและสัมพันธ์กับนักเขียนฝ่ายซ้าย ฝ่ายก้าวหน้า เป็นจำนวนมาก ตลอดจนผลงานชิ้นแรกที่มาจากประสบการณ์การเป็นไกด์นำเที่ยวเขมรในช่วงนี้อย่าง “ประวัติศาสตร์สนทนา ตำนานแห่งนครวัด” ก็มาจากการตั้งคำถามถึงโครงสร้างของอาณาจักรเขมรโบราณ สิ่งก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่ ต้องใช้แรงงานระบบไพร่ทาสอย่างไรจึงจะเกิดขึ้นได้

ขณะที่ผลงานต่อมาอย่าง “โฉมหน้าศักดินาของไทยในปัจจุบัน” เป็นบทความที่ถูกตีพิมพ์อยู่ในวารสาร “นิติศาสตร์ ฉบับต้อนรับพุทธศตวรรษใหม่” หรือ “นิติศาสตร์ 2500” ก็เป็นการตั้งคำถามกับโครงสร้างและพัฒนาการของระบบจากยุคบุพกาลมาสู่ยุคไพร่ทาสมาจนเป็นระบบศักดินา เพื่อค้นหาว่าแท้จริงแล้ว ในยุคสมัยนี้ (พ.ศ.2500) สังคมไทยอยู่ในลำดับช่วงไหนตามทฤษฎีมาร์ก และงานของจิตรชิ้นนี้ ได้ทำให้หนังสือดังกล่าวถูกสั่งเก็บ กลายเป็นหนังสือต้องห้าม ซึ่งต่อมา ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ก็ได้เขียนงานออกมาตอบโต้ด้วย ในหนังสือชื่อ “ฝรั่งศักดินา”

นี่คือ “นักตั้งคำถามแห่งยุคสมัย” ซึ่งไม่แปลกเลยที่หลังจากการรัฐประหาร 2500 และ 2501 เมื่อ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นมามีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จิตรต้องถูกรวบตัวในฐานะนักโทษการเมือง ข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ เขาถูกคุมขังถึง 6 ปีกว่า (21 ตุลาคม 2501 – 30 ธันวาคม 2507) โดยไม่มีความผิด

และใน “คุกลาดยาว” ที่จิตรเรียกว่า “มหาวิทยาลัยลาดยาว” นี่เองที่เขาได้ผลิตงานเขียนออกมาเป็นจำนวนมาก อาทิ “ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” ที่ตั้งคำถามกับรากเหง้าความเป็นมาของผู้คนบนผืนแผ่นดินนี้, “โองการแช่งน้ำและข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา” ที่ตั้งคำถามกับความเป็นมาของระบบไพร่ทาส ว่าเคลื่อนมาสู่อยุธยา รัตนโกสินทร์ได้อย่างไร

รวมถึงงานแปลต่างๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นงานที่เห็นคนเท่ากัน เห็นคุณค่าในความเป็นมนุษย์ อาทิ แม่ (แม็กซิ กอร์กี้), คนขี่เสือ (ภวานี ภัฏฏาจารย์), โคทาน (เปรมจันท์ หรือ ธนปัต ราย ศรีวัสตาวะ)

ภายหลัง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เสียชีวิต จิตรได้รับการปล่อยตัว เขาตัดสินใจเข้าป่า เข้าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เพื่อต่อต้านจักรวรรดิอเมริกา ต่อต้านอำนาจรัฐ และสร้างสังคมที่เป็นธรรมในแบบที่เขาเชื่อ ก่อนที่สุดท้ายจะถูกยิงเสียชีวิต เมื่อ 5 พฤษภาคม 2509 ดังที่กล่าวมาแล้ว

ชีวิตและผลงานของจิตร “เกิดใหม่เป็นครั้งที่ 2” ตามคำนิยามของ อ.เคร็ก เจ เรย์โนลด์ นักวิชาการประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ม.แห่งชาติออสเตรเลีย ก็คือในช่วงเกิดขบวนการนักศึกษา โดยหลังเหตุการณ์ “14 ตุลาคม 2516” จิตรได้กลายเป็น “แรงบันดาลใจ” ให้หนุ่มสาวยุคนั้น หนุ่มสาวผู้ใฝ่ฝันอยากสร้างสังคมที่เท่าเทียมและเป็นธรรม แต่ทว่าสุดท้าย พวกเขาก็ถูกปราบอย่างอำมหิตในเหุตการณ์ “6 ตุลาคม 2519” จนสุดท้ายต้องเข้าป่าจับอาวุธไม่ต่างไปจากจิตร

ในวันนี้ ที่มี “ขบวนการนักศึกษา” เกิด “ขบวนการคนรุ่นใหม่” ที่ “ตื่นรู้” และ “ใฝ่รู้” ผลงานและชีวิตของจิตรก็ถูกรื้อฟื้นกลับขึ้นมาอีกครั้ง จิตรได้กลายเป็นต้นแบบ กล่าวได้หรือไม่ว่านี่เป็นการ “เกิดใหม่ครั้งที่ 3” ดังเช่นเมื่อปีที่แล้ว ในขณะที่ม็อบคนรุ่นใหม่กำลังเข้มข้น ก็ได้มีงาน 90 ปี ชาตกาล จิตร ภูมิศักดิ์ จัดขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันเป็นสถาบันการศึกษาที่จิตรเคยเรียน และเป็นสถาบันการศึกษาที่ผลักเขาให้เป็นซ้าย งานนี้จัดขึ้น พร้อมกับแฮชแท็ก #รับพี่จิตรคืนจุฬา

เรื่องราวชีวิตและผลงานของชายชื่อ “จิตร ภูมิศักดิ์” ไม่มีวันตาย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า