ปิยบุตร กาง 4 ฉากทัศน์ชะตา รัฐธรรมนูญ 60 ปลุกอำนาจสูงสุดสถาปนารัฐธรรมนูญมาจากประชาชน

6 มีนาคม 2564

วันอังคาร 2 มีนาคม 2564 ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ไลฟ์สดรายการ “สนามกฎหมาย” ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจโดยใช้ชื่อตอนว่า “เราจะออกจากรัฐธรรมนูญ 2560 ได้อย่างไร?” หลังจากนั้นได้เปิดแอปพลอเคชันคลับเฮาส์ (Clubhouse) ให้ประชาชนร่วมสอบถามแลกเปลี่ยนความเห็นกัน

โดยเนื้อหาหลักของรายการสนามกฎหมาย กล่าวถึงความคืบหน้าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่มีการผ่านวาระ 1-2 แล้ว รอการประชุมสภาเพื่อผ่านวาระ 3 อีกครั้ง ซึ่งประเด็นหลักใหญ่ในการแก้ไขคือ เพื่อเพิ่มหมวดใหม่ว่าด้วยการทำร่างรัฐธรรมนูญโดยมี สสร. เข้ามาทำร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยเว้นไม่แตะต้องหมวด 1-2 ที่ว่าด้วยหมวดทั่วไปและหมวดพระมหากษัตริย์เอาไว้ให้เหมือนในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน พร้อมกำหนดให้ สสร. มาจากการเลือกตั้ง 200 เขตทั่วประเทศ (และเมื่อได้ สสร. มาแล้วก็จะเข้าสู่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งใช้เวลา 8 เดือน หลังจากนั้นค่อยทำประชามติ)

ส่วนประเด็นที่สองในการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้คือการแก้มาตรา 256 ว่าด้วย “วิธีการแก้รัฐธรรมนูญ” โดยจากเดิมในวาระที่ 1 ต้องใช้เสียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภาและใช้เสียง ส.ว. จำนวน 1ใน 3 หรือ 84 เสียง และวาระที่ 3 ยังต้องมีเสียงจากฝ่ายค้านอีกร้อยละ 20 ด้วย โดยจะปรับให้ง่ายขึ้นโดยเปลี่ยนมาเป็นใช้เสียง 3 ใน 5 หรือประมาณ 450 เสียงจาก 750 ของที่ประชุมรัฐสภาแทน

สำรวจ 3 กลุ่มความคิดหลักในการทำรัฐธรรมนูญใหม่

ปิยบุตรกล่าวต่อว่าหากเราสำรวจแนวความคิดในการแก้รัฐธรรมนูญตอนนี้พบว่ามีอยู่ 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่

1. พรรคก้าวไกล + ขบวนการประชาชน

ต้องการให้มี สสร. มาจากการเลือกตั้ง ทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทั้งฉบับ และต้องไม่จำกัดว่าห้ามแก้หมวด 1-2

2. ส.ส.ส่วนใหญ่ + ส.ว. บางส่วน

ต้องการให้มี สสร. มาจากการเลือกตั้งทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แต่ไม่แตะต้องหมวด 1-2

3. ส.ว. ส่วนใหญ่ + อดีต กมธ. ร่างรัฐธรรมนูญ

ไม่ต้องการให้มี สสร. มาร่างใหม่ทั้งฉบับเลย แต่หากจะแก้ก็ต้องแก้รายมาตรา

แต่ล่าสุด ในการพิจารณาวาระที่ 3 ที่คาดกันว่าจะมีขึ้นในช่วงกลางเดือนมีนาคม 2564 มีข่าวลือว่อนในสภาว่าอาจจะไม่สามารถหาเสียง ส.ว. ให้มีจำนวนเพียงพอ 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง ได้ ก็อาจจะเท่ากับว่าญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้เป็นอันตกไป ไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะออกมาในทางใดย่อมไม่ส่งผลดีต่อกระบวนการประชาธิปไตย

ในขณะเดียวกันก็พบว่านายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และนายสมชาย แสวงการ ส.ว. เป็นหัวหอกในการยื่นเรื่องร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยว่ารัฐสภามีอำนาจในการทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับแทนที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 หรือไม่ โดยขณะนี้ยังอยู่ในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ แต่เราพบว่าผู้เชี่ยวชาญที่ศาลรัฐธรรมนูญขอให้ส่งความเห็นไปนั้นหลายครั้งหลายคราแสดงออกว่าไม่สามารถทำใหม่ทั้งฉบับได้

ส่วนทางศาลรัฐธรรมนูญอาจมีคำวินิจฉัยออกมาใน 2 แนวทาง

1.วินิจฉัยว่าร่างใหม่ทั้งฉบับไม่ได้ ต้องแก้รายมาตรา เป็นการซ่อมบ้านเก่าที่ชื่อว่ารัฐธรรมนูญ 2560 แต่ไม่สามารถสร้างบ้านใหม่ได้

2.ร่างใหม่ได้ แต่ไม่ถือว่าเป็นการร่างใหม่ทั้งฉบับเพราะต้องเว้นหมวด 1-2 เอาไว้

อย่างไรก็ตาม ปิยบุตรเห็นว่าไม่ว่าคำวินิจฉัยจะออกทาง 1 หรือ 2 ย่อมไม่เป็นคุณต่อกระบวนการประชาธิปไตยแน่ๆ เนื่องจากถ้าไม่สามารถร่างใหม่ทั้งฉบับได้ ก็เท่ากับเราจะอยู่กับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปชั่วกัลปาวสาน แต่ถ้าเปิดทางให้แก้ได้แล้วแต่มีเงื่อนไขห้ามแตะหมวด 1-2 ก็เท่ากับว่าจะร่างใหม่กี่ฉบับก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแตะต้องหมวด 1-2 ได้อีกเลย

กาง 4 ฉากทัศน์ ความเป็นไปได้ในปีนี้ ถามเราจะเอาอย่างไรกันต่อ ?

สุดท้ายแล้วต้องติดตามต่อไปว่าในช่วงกลางเดือนมีนาคมนี้ผลของการโหวตในสภาและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาในทางใด โดยปิยบุตรกางออกมาให้เห็น 4 ความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้และตั้งคำถามเพื่อให้ฉุกคิดกันต่อไป คือ

1. ในช่วงกลางเดือนมีนาคม 2564 หากไม่สามารถหาเสียง ส.ว. ได้ครบ 1 ใน 3 หรือ 84 คน จนสภาไม่สามารถผ่านวาระ 3 ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ เราจะทำอย่างไรต่อ ? เดินหน้าแก้ไขรายมาตราเพื่อลดอำนาจหรือยกเลิก ส.ว.แต่งต้ังหรือไม่ ? เราจะแก้รัฐธรรมนูญในส่วนของวิธีการแก้ไขให้มันง่ายขึ้นก่อนหรือไม่ ?

2. ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าแก้รัฐธรรมนูญให้มี สสร. นั้นทำไม่ได้ แต่จะสามารถแก้ได้รายมาตรา ทางขบวนการประชาชนจะเดินหน้าอย่างไรต่อ ? จะเดินหน้าแก้รายมาตราอย่างไร ? จะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญเลยหรือไม่ ? จะตัดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยประเด็นนี้ออกไปเลยหรือไม่ ?

3. ส.ว. และศาลรัฐธรรมนูญให้ผ่าน สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้มี สสร. ได้ ก็จะไปลงที่การทำประชามติ เราจะเอาอย่างไร ? ฝ่ายนักศึกษาประชาชนที่รณรงค์ก่อนหน้านี้ว่าต้องแก้ไขได้ทุกหมวดนั้นจะเอาอย่างไรต่อไปในเมื่อ สสร. ชุดที่จะเกิดขึ้นนั้นไม่สามารถแก้ไขหมวด 1-2 ได้ ? จะโหวตโนหรือจะคว่ำบาทหรือไม่ ?

4. หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านประชามติมาแล้ว เท่ากับว่าเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง สสร. จำนวน 200 คน 200 เขตทั่วประเทศ เราจะเอาอย่างไร ? ฝ่ายขบวนการประชาชนจะคัดสรรคนเข้าไปชิงตำแหน่งเป็น สสร. หรือไม่ ? อย่างไร ? ในเมื่อระบบการเลือกตั้ง สสร. แบบที่เราคุยกันอยู่นี้ มีปัญหาว่าการแข่งขันในเขตนั้นจะดุเดือดมากและมีผู้ชนะในเขตเพียง 1 คน ก็ต้องสันนิษฐานได้ว่าผู้ชนะมีฐานคะแนนอยู่แล้วแน่ๆ อาจมีพรรคการเมืองเอาใจช่วย มีหัวคะแนนช่วยเดินให้อยู่ การออกแบบระบบเลือกตั้งแบบนี้อาจจะเสร็จกลไกรัฐ ทำให้นักวิชาการ ภาคประชาชน ประชาสังคม ฝ่าด่านมาได้ยากมาก จะมีเพียงแต่ตระกูลการเมืองใหญ่หน้าเดิมๆ ที่ได้ไปในแต่ละเขตแต่ละจังหวัดหรือไม่ ดังนั้นขบวนการประชาชนจะเอาอย่างไร ? จะส่งคนลงสมัครแข่งขันหรือไม่ ?

ชวนย้อนคิด อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญที่แท้จริงต้องเป็นของประชาชน

เมื่อประชาชนต้องการรัฐธรรมนูญที่ปลอดคราบไคลจากเผด็จการรัฐประหาร การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เช่นนี้ช่างยากเย็นแสนเข็ญเหลือเกิน ตั้งแต่รัฐประหาร 2549 มาเป็นรัฐธรรมนูญ 2550 จะเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ถูกสกัดขัดขวาง วันนี้มีรัฐประหาร 2557 มาเป็นรัฐธรรมนูญ 2560 อยากเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ 2560 ให้เป็นฉบับใหม่ก็ดันถูกขัดขวางจากคนกลุ่มเดิมๆ หน้าเดิมๆ แต่ในทางกลับกัน เมื่อมีรัฐประหารสามารถฉีกเปลี่ยนรัฐธรรมนูญได้อย่างง่ายดาย แล้วเราจะทำอย่างไรจึงจะออกจากรัฐธรรมนูญ 2560 ได้บ้าง ?

ดังนั้น ปิยบุตรจึงชวนย้อนคิดก่อนว่า

“อำนาจ” ในการก่อตั้งรัฐธรรมนูญ หรือที่เรียกว่า “อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ”

(ภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า Pouvoir constituant หรือที่แปลว่า Constituent Power ในภาษาอังกฤษ)

โดยแบ่งเป็น 2 ชนิดคือ

  1. อำนาจปฐมสถาปนารัฐธรรมนูญ (Pouvoir constituant originaire) คือการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่จากที่ไม่มีอะไร
  2. อำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีข้อจำกัดเสมอ เพราะรัฐธรรนูญจะเขียนบัญญัติไว้เสมอว่าจะแก้ได้เมื่อไหร่อย่างไร มีข้อจำกัดในตัวมันเอง

ที่เราทำกันอยู่ทุกวันคืออำนาจแบบที่ 2 ต้องไปเปิดรัฐธรรมนูญว่ามีกระบวนการขั้นตอนแก้อย่างไร ส.ว. ยอมหรือไม่ ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ ต้องทำประชามติหรือไม่ ฯลฯ

คำถามที่สำคัญคือ เมื่อไหร่จะเกิดอำนาจที่ 1 คืออำนาจปฐมสถาปนารัฐธรรมนูญได้อีกครั้ง ? ซึ่งอำนาจนี้ติดตัวมนุษย์มาแต่กำเนิดและสถิตอยู่กับประชาชนตลอดกาล เพราะเมื่อมนุษย์หลายคนรวมตัวกันเป็นรัฐขึ้นมาก็ต้องออกแบบว่าจะมีความสัมพันธ์กันอย่างไร จะออกแบบสถาบันการเมืองอย่างไร มีสิทธิเสรีภาพเช่นไร ดังนั้นอำนาจชนิดนี้คือสิ่งที่ติดตัวมนุษย์มาแต่กำเนิด เพื่อก่อตั้งรัฐธรรมนูญ และอยู่อาศัยร่วมกันภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้

อำนาจปฐมสถาปนารัฐธรรมนูญเช่นนี้เมื่อก่อตั้งรัฐธรรมนูญขึ้นมาแล้ว อำนาจนี้ก็จะเงียบดับลงไป ที่เหลือก็ให้สถาบันการเมืองจัดการกันไป คำถามสำคัญคือยักษ์ตนนี้ที่ชื่อประชาชนจะตื่นกลับขึ้นมาได้อีกครั้งเพื่อตั้งรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้อีกครั้งเมื่อไหร่ ?

คำตอบคือ

  1. รัฐธรรมนูญที่บังคับใช้อยู่ปัจจุบันถูกยกเลิกไปทั้งฉบับ ซึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็พบบ่อยครั้งจากการยึดอำนาจทำรัฐประหารโดยกองทัพ
  2. การปลุกให้อำนาจนั้นตื่นกลับขึ้นมาอีกครั้ง อาจจะเป็นการปฏิวัติประชาชน แต่เราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าใครจะชนะใครจะแพ้ ผลลัพท์จะเป็นอย่างไรเสียหายมากน้อยแค่ไหน

จะปลุกอำนาจประชาชนขึ้นมาอีกครั้งได้อย่างไร ?

ปิยบุตรอธิบายต่อว่า ดังนั้นในเมื่อโลกปัจจุบันมีความอารยะแล้ว จึงมีนักวิชาการเสนอว่าการจะปลุกอำนาจประชาชน (activate)ให้กลับมาใหม่นั้นง่ายมาก คือ การใช้กลไก ‘การออกเสียงประชามติ’ เป็นการกระตุ้นอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชนให้กลับมาอีกครั้ง ซึ่งแน่นอนว่ากลไกเช่นนี้ไม่ได้ถูกเขียนไว้ในกฎหมายมาตราใดแน่ เพราะเป็นสิทธิธรรมตามธรรมชาติของมนุษย์มาตั้งแต่เกิด ที่จะบอกว่าเรามีอำนาจแต่เดิมในการก่อตั้ง เปลี่ยนแปลง รื้อสร้างรัฐธรรมนูญได้ เนื่องจากประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ

เช่น ประชาชนอาจจัดประชามติกันเองว่าเราจะยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งฉบับ และจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับมาแทนที่หรือไม่

มีรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญครั้งหน้า ประชาชนต้องออกมายืนยันว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของเรา

หรือในอีกแบบหนึ่ง หากมีการรัฐประหารเกิดขึ้นแล้วมีการฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง ตามปกติที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ก็ต้องรอให้คณะรัฐประหารตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาเพื่อร่างและบังคับใช้ แต่ครั้งนี้ตนมีแนวทางใหม่มานำเสนอ

“ก็คือทันทีที่มีการรัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง ประชาชนจะต้องรวมตัวกันไปต่อต้านการรัฐประหาร ซึ่งการแสดงออกครั้งนี้ไม่ใช่การรวมตัวเพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือรัฐบาลที่ถูกยึดอำนาจไป แต่การต่อต้านรัฐประหารครั้งนี้คือการเข้าไปแย่งชิงว่าประชาชนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ที่มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นเช่นนี้ได้ประชาชนก็ต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเก็บไว้ เมื่อวันนั้นมาถึงก็ต้องวัดกันว่าอำนาจที่แท้จริงอยู่ที่ประชาชนหรือคณะรัฐประหาร”

ปิยบุตร กล่าว

โดยปิยบุตรยกตัวอย่างประเทศโคลอมเบีย มีรัฐธรรมนูญเผด็จการสืบทอดอำนาจเช่นกัน มีความพยายามแก้รัฐธรรมนูญหลายครั้งโดยประธานาธิบดีหลายคนในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมาแต่ก็ทำไม่สำเร็จเพราะติดที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ยอม แต่สุดท้ายมีการทำประชามติกันเองโดยประชาชนหลายล้านคน ประธานาธิบดีจึงอาศัยโอกาสประกาศกฎอัยการศึกให้ตนเองมีอำนาจแก้รัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังมีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญเหมือนกัน ซึ่งสุดท้ายศาลก็ต้องยอมปล่อยผ่านให้จัดการรัฐธรรมนูญได้สำเร็จจากกระแสกดดันของประชาชน

เปิด Clubhouse แลกเปลี่ยนความเห็น ย้ำอย่าสิ้นหวัง ตอนนี้เป็นโอกาสอันดีในการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่

ปิยบุตรกล่าวกับผู้ที่เข้าฟังและแลกเปลี่ยนสอบถาม โดยฝากประเด็นว่า “อย่าสิ้นหวัง” ประเทศชิลีรัฐประหารปี 1973 มีคนเจ็บคนตายจากระบอบเผด็จการจำนวนมาก และก็อยู่กับรัฐธรรมนูญเผด็จการสืบทอดอำนาจของปิโนเชมาหลายสิบปีเหมือนกัน เพิ่งสามารถแก้ได้จากประชามติครั้งที่ผ่านมาไม่กี่ปีนี้เอง

ประชาชนเมียนมาร์ก็สู้ตั้งแต่เหตุการณ์ 8888 (การประท้วงใหญ่ที่จบลงด้วยการนองเลือดปี 1988) จนถึงปัจจุบันที่แม้พรรค NLD จะชนะการเลือกตั้งครั้งล่าสุดถล่มทลาย แต่ก็มีรัฐประหารอีกครั้ง เขาก็ยังออกมาต่อสู้จนถึงตอนนี้

“อย่าสิ้นหวัง เพราะเบื้องหน้าของเราตอนนี้เป็นโอกาสอันดีในการต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ในประเทศไทยของเรา” ปิยบุตร กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า