กรณี #แอมมี่ : สังคมประชาธิปไตยจำเป็นต้องอดทนอดกลั้นกับความเห็นที่แตกต่าง – เตือนใช้ 112 ยิ่งบานปลาย

5 มีนาคม 2564

วันพฤหัสบดีที่ 4 มีนาคม 2564 ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เปิดห้องสนทนาในแอปพลิเคชันคลับเฮาส์ (Clubhouse) ให้ประชาชนร่วมสอบถามแลกเปลี่ยนความเห็นในหัวข้อ “จากสเปนถึงไทย : เผารูป แต่งเพลง วาดการ์ตูนล้อกษัตริย์” สืบเนื่องจากกรณีเผาพระบรมฉายาลักษณ์โดยศิลปินและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง แอมมี่ The Bottom Blues จนเกิดกระแส #StandwithAmmy ก่อนหน้านี้เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมออกมาแถลงว่าผู้กระทำอาจมีโทษถึงประหารชีวิต ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกหมายจับหลายฐานความผิด อาทิ หมิ่นประมาทดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ วางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น และความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ โดยไม่ให้ประกันตัว

ประเด็นสำคัญที่ปิยบุตรบรรยายในห้องสนทนาคือตัวอย่างการดำเนินคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในประเทศสเปน เปรียบเทียบระหว่างบริบทของไทยกับบริบทโลก เพื่อชวนประชาชนมาขบคิดหาทางออกต่อประเด็นละเอียดอ่อนให้กับสังคม รวมทั้งพิจารณาข้อเสนอยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 ด้วย

ศาลยุโรปลงดาบ เผารูป-การ์ตูนล้อ-แต่งเพลงหมิ่นกษัตริย์สเปน เป็นเสรีภาพในการแสดงออก

ปิยบุตร เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงประมวลกฎหมายอาญาของประเทศสเปนที่ระบุความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทกษัตริย์ไว้ใน มาตรา 409 วรรค 3 ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น มีโทษจำคุก 6 เดือนถึง 2 ปี ในกรณีร้ายแรง และปรับเทียบเท่าอัตรา 6 เดือนถึง 12 เดือน ในกรณีไม่ร้ายแรง (อัตราค่าปรับวันละ 2-400 ยูโร) และในมาตรา 491 วรรคแรก ลดโทษเป็นปรับอัตรา 4 เดือนถึง 12 เดือน ในกรณีที่การหมิ่นประมาทนั้นเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ได้เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่

สาเหตุที่การหมิ่นประมาทกษัตริย์ขณะปฏิบัติหน้าที่จะมีโทษสูงกว่าการหมิ่นประมาทส่วนตัว เพราะระบบกฎหมายสเปนมองว่าขณะทำหน้าที่มีการหมิ่นตัวตำแหน่งซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐด้วย เทียบเคียงกันลักษณะเดียวกับความผิดฐานดูหมิ่นศาล ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน เพราะพนักงานกำลังทำงานอยู่จึงมีโทษเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ทั้งนั้นตำแหน่งพระมหากษัตริย์มีความซับซ้อนกว่า เนื่องจากพระมหากษัตริย์เป็นตลอดชีวิต จึงแยกระหว่างตำแหน่งกับส่วนตัวยาก

จากนั้น ปิยบุตรได้ยกคดีตัวอย่างในสเปนมา 4 กรณี

กรณีแรก ในปี 2007 หนังสือพิมพ์แทปลอยด์ El Jueves ได้ลงปกเป็นภาพการ์ตูนล้อเลียนมกุฎราชกุมารเฟลิเป้ร่วมเพศกับเจ้าหญิงเลติเซีย (ยศในขณะนั้น) พร้อมกับเขียนว่าเราต้องรีบมีบุตรจะได้เงินช่วยเหลือจากรัฐบาลสเปน โดยศาลพิพากษายึดหนังสือพิมพ์และปรับ 3,000 ยูโร

กรณีที่สอง คือ กรณีที่ โอเตกี มอนดรากอน (Otegi Mondragon) โฆษกของกลุ่มชาตินิยมบาสก์ นัดสื่อมวลชนเปิดแถลงข่าวและพูดถึงการเสด็จมาของกษัตริย์ฆวน คาร์ลอส ศาลสเปนพิพากษาให้ โอเตกี มอนดรากอน ต้องจำคุก 1 ปีในความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ ต่อมาเขาต่อสู่คดีไปที่ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป ในภายหลังศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปพิพากษาว่ารัฐบาลสเปนละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามมาตรา 10 ของอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนยุโรป โดยให้รัฐสเปนชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทางจิตใจให้แก่ โอเตกี มอนดรากอน เป็นจำนวนเงิน 20,000 ยูโร และชดใช้ค่าธรรมเนียมศาลและค่าใช้จ่ายจากการดำเนินคดีในศาลเป็นจำนวนเงิน 3,000 ยูโร

กรณีที่สาม การเผาภาพของกษัตริย์และพระราชินีสเปนโดยผู้ประท้วงชาวกาตาลุนญ่าสองคน ทั้งคู่ก็ยื่นเรื่องให้ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปและได้รับชัยชนะเช่นกัน โดยศาลมีมติเอกฉันท์และให้เหตุผลว่าการเผาคือการแสดงออกในทางการเมือง เพื่อแสดงออกทางสัญลักษณ์ว่าต่อต้านรัฐสเปน ต่อต้านระบอบกษัตริย์ ต้องการแยกดินแดน ไม่ใช่การกระตุ้นให้คนอื่นไปใช้ความรุนแรงต่อกษัตริย์ ไม่ได้มุ่งหมายโจมตีส่วนพระองค์ แน่นอนว่าอาจทำให้รู้สึกตกใจ รบกวนจิตใจ แต่ก็ต้องอดทนอดกลั้นต่อความหลากหลายและรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เพราะเป็นลักษณะสำคัญของสังคมของประชาธิปไตย

จะเห็นได้ว่าแนวทางคำตัดสินของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปโน้มเอียงไปทางเสรีภาพในการแสดงออก มากกว่าการคุ้มครองเกียรติยศ ชื่อเสียง โดยศาลจะไล่เลียงไปว่า การจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก สามารถทำได้ภายใต้เงื่อนไขสามประการ ได้แก่

1) มีการตรากฎหมายมาจำกัดเสรีภาพ

2) การจำกัดเสรีภาพก็เพื่อวัตถุประสงค์บางประการ เช่น รักษาความมั่นคง คุ้มครองชื่อเสียงของบุคคลอื่น

3) การจำกัดเสรีภาพต้องทำเท่าที่จำเป็นตามแบบสังคมประชาธิปไตย

โดยศาลมักตัดสินว่า กรณีที่รัฐสมาชิกลงโทษบุคคลในความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์นั้น เกินความจำเป็น ไม่ได้สัดส่วน กษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ เป็นบุคคลสาธารณะ ขอบเขตในการวิจารณ์กษัตริย์จึงต้องกว้างกว่าบุคคลธรรมดา

การเผารูปกษัตริย์สเปนโดยชาวกาตาลุนญ่า

กรณีที่สี่ คือ กรณีของ Pablo Hasel แร็ปเปอร์ที่มีจิตสำนึกทางการเมืองผูกมัดตัวเองเข้ากับการต่อสู้ทางการเมืองและสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนการตาลัน ในช่วงปี 2014-2016 เขาได้ทวิตวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ฆวน คาร์ลอส หลายครั้ง และแต่งเพลงพูดถึงกษัตริย์ฆวน คาร์ลอส กับความสัมพันธ์กับรัฐบาลซาอุดิอาราเบีย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ศาลสูงสุดสเปนตัดสินให้ลงโทษจำคุก 9 เดือนฐานเขียนเพลงและทวีตข้อความเชิดชูการก่อการร้าย ใส้ร้ายป้ายสี และดูหมิ่นอดีตกษัตริย์ จนตำรวจคอมมานโดบุกไปจับตัว ทำให้ประชาชนชาวกาตาลุนญ่าไม่พอใจมาก เกิดการประท้วงใหญ่ที่บาร์เซโลน่า และมีการเผารูปกษัตริย์อีกเช่นกัน

สเปน-ไทย มุ่งใช้กฎหมายหมิ่นฯ จัดการนักกิจกรรม

การดำเนินคดีเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ทั้งในประเทศไทยและประเทศสเปนมีลักษณะคล้ายกันตรงที่ในระยะหลังมีการนำกฎหมายมาใช้โดยมุ่งเป้าหมายไปที่กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง กรณีของสเปนนั้น กลุ่มต้องการแบ่งแยกดินแดน จากแคว้นบาสก์และกาตาลันได้วิพากษ์วิจารณ์และแสดงออกทางสัญลักษณ์โจมตีสถาบันกษัตริย์ฯ หลายกรณี ศาลสเปนตัดสินว่ามีความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ แต่เมื่อมีการต่อสู้คดีไปถึงศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป ก็ได้รับพิพากษาว่ารัฐสเปนละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนและต้องชดเชยค่าสินไหมทดแทนให้ อย่างไรก็ตาม สเปนยังไม่ยอมยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จนกระทั่งปัจจุบันรัฐบาลฝ่ายซ้ายซึ่งเกิดจากการผนึกกำลังระหว่างพรรคสังคมนิยมกับพรรคโปเดมอสก็มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงกฎหมายนี้

เมื่อถูกถามว่าองค์กรระหว่างประเทศหรือกลไลระดับนานาชาติจะสามารถเข้ามามีบทบาทในคดีที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงออกในลักษณะเดียวกับศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปได้หรือไม่ ด้าน ปิยบุตร อธิบายว่า

“ไม่มี เพราะประชาคมอาเซียนที่คบหาสมาคมกันเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว ไม่นำเรื่องสิทธิมนุษยชนมาคุยกัน ในขณะที่ยุโรปมีอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนยุโรป มีการบูรณาการเข้าหากันในเรื่องกรอบสิทธิมนุษยชนระดับสากล แต่ละประเทศมีอัตลักษณ์วัฒนธรรมของตัวเอง แต่เขาพยายามสร้างกรอบที่เป็นสากลให้ทุกประเทศที่ใช้ร่วมกันในชื่อของสิทธิมนุษยชน พร้อมกันนั้นก็มีศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปคอยวินิจฉัยคดีเพื่อดูว่ารัฐแต่ละรัฐที่เป็นภาคีละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่”

ในขณะเดียวกันกลไลขององค์กรสหประชาชาติก็จะมีการจัดการประชุมกัน ให้แต่ละประเทศทำรายงาน แสดงความกังวล มีการตั้งคำถามให้รัฐบาลไทย ส่วนองค์กรเอกชนระหว่างประเทศช่วยกันรณรงค์อย่างต่อเนื่องแข็งขัน แต่ภายในระบบปัจจุบัน ยังไม่มีองค์กรหรือสถาบันการเมืองใดที่สามารถเข้ามาแทรกแซงอำนาจรัฐไทยได้

ยกกรณีทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ในอดีต ชี้แนวทางการตีความ 112 ขึ้นอยู่กับบริบทการเมือง

ปิยบุตร ยกตัวอย่างกรณีการทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยเพื่อเปรียบเทียบข้อหาและแนวทางคำพิพากษา

กรณีแรก คือเมื่อปี 2557 กรณีของสมัครถูกกล่าวหาว่าเผาพระบรมฉายาลักษณ์ในจังหวัดเชียงราย ระหว่างนั้นอยู่ภายใต้สถานการณ์พิเศษของ คสช. ทำให้ศาลทหารมีอำนาจตัดสินคดีมาตรา 112 พิพากษาลงโทษจำคุก 10 ปี โดยรับสารภาพลดโทษให้เหลือ 5 ปี และได้ลดโทษมาเรื่อยๆ สุดท้ายจึงติดคุกรวม 2 ปี 9 เดือน

กรณีที่สอง ในปี 2561 เรียกว่าคดี 6 วัยรุ่นเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติจังหวัดขอนแก่น ศาลชั้นต้นพิพากษาว่ามีความผิดตามมาตรา 112 ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าแม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ แต่การเผาพระบรมฉายาลักษณ์ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดของมาตรา 112 แต่ให้ลงโทษในความผิดฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่นแทน

กรณีที่สาม เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2549 โอลิเวอร์ จูเฟอร์ ชาวสวิตเซอร์แลนด์พ่นสีสเปรย์ลงบนพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ศาลพิพากษาจำคุกรวม 20 ปี สารภาพจึงลดโทษให้เหลือ 10 ปี และได้รับพระราชทานอภัยโทษในเวลาต่อมา แต่ก็ถูกเนรเทศออกจากประเทศไท

หลังจากนั้นปิยบุตร อธิบายต่อว่า ประเทศไทยมีการนำมาตรา 112 มาใช้กับการแสดงออกที่กระทำต่อวัตถุสิ่งของ ซึ่งถือเป็นการใช้ที่มีขอบเขตกว้างขวางเกินไป แท้จริงแล้วมาตรา 112 ระบุความผิดไว้ 3 คำ คือ 1) หมิ่นประมาท 2) ดูหมิ่น 3) อาฆาตมาดร้าย โดยทั้งสามความผิดเป็นคนละเรื่องกัน แต่ในการพิพากษามักจะถูกมัดรวมปนกันหมด ไม่แยกออกมาเป็นข้อๆ

ในทางปฏิบัติ ศาลฎีกาเคยมีแนวทางคำตัดสินตีความขยายคำว่า ‘อาฆาตมาดร้าย’ ออกไปกว้างมาก ดังนั้นแม้การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ จะไม่เข้าองค์ประกอบเป็นการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท แต่อาจเข้ากับขอบเขตกว้างๆ ของคำว่า ‘อาฆาตมาดร้าย’ ดังเช่นที่ศาลฏีกาเคยตีความไว้ในกรณีเพลงสรรเสริญพระบารมีดังขึ้นแล้วคนตะโกนโวยวายว่า “เพลงะอะไรวะ หนวกหู”

นอกจากนี้ยังมีกรณีของวีระ มุสิกพงศ์ โดนความผิดมาตรา 112 จากการปราศรัยว่า หากได้เกิดมาเป็นพระองค์เจ้าวีระก็คงสบายไปแล้ว กรณีศิลปิน สุวัฒน์ วรดิลก มีการตั้งชื่อสุนัขของตนเอง และกรณีประเดิม ดำรงเจริญ ที่แต่งบทกวี นี่แสดงให้เห็นว่ามีการตีความอย่างกว้างขวาง จนไม่อาจคาดหมายได้เลยว่าข้อความและการแสดงออกแบบใดจะเข้าข่าย ‘อาฆาตมาดร้าย’ หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตที่เห็นได้ชัดคือการตีความคดีมาตรา 112 สอดคล้องกับสถานการณ์และบริบททางการเมืองในแต่ละช่วง ทั้งในช่วงปี 2518-2519 ที่ฝ่ายความคิดก้าวหน้ากำลังเบ่งบานหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในขณะเดียวกันฝ่ายขวาจัดก็หวั่นกลัวเรื่องคอมมิวนิสต์และนำมาตรา 112 มาใช้เป็นเครื่องมือจัดการกับกลุ่มคนที่แสดงความคิดเห็นแตกต่างออกไป

เตือนใช้ ม.112 สุมไฟให้สถานการณ์บานปลาย แนะอดทนอดกลั้นต่อเพื่อนร่วมชาติ

ทั้งหมดนี้สะท้อนมาถึงสถานการณ์ในปัจจุบันจากกรณีของ ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ แอมมี่ The Bottom Blues จากที่อ่านโพสต์ของแอมมี่เห็นได้ชัดว่าต้องการแสดงออกอะไรบางอย่างในเชิงสัญลักษณ์และเจ้าตัวก็คงไม่กังวลกับคดีเหล่านี้ เพราะไม่อย่างนั้นคงไม่ออกมาบอกว่าตนเองเป็นผู้กระทำ พูดง่ายๆ คือ แอมมี่ต้องการปฏิบัติการทางการเมืองเชิงสัญลักษณ์ ยอมกระทำการบางอย่างที่อาจถูกเจ้าหน้าที่รัฐตีความว่าผิดกฎหมาย และพร้อมยอมรับ เพื่อรณรงค์ทางการเมืองและแสดงการอารยะขัดขืนต่อไป

“อยากฝากด้วยความปรารถนาดีไปยังผู้มีอำนาจรัฐ ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่พนักงานสอบสวน ตำรวจ อัยการ ศาล รัฐบาล หรือใครก็ตามที่มีอำนาจอยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังว่ากรณีนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน อยากให้คิดทบทวนให้ถี่ถ้วน เพราะการใช้ ม.112 กับกรณีของคุณแอมมี่ ผมกังวลใจจริงๆ ว่ายิ่งใช้หนัก ยิ่งใช้แรง ยิ่งใช้มาก จะทำให้เรื่องราวลุกลามบานปลายไปยิ่งกว่าเดิม”

เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าว

การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือปราบปรามบุคคลที่คิดต่างจะทำงานได้ก็ต่อเมื่อ หนึ่ง กลไกรัฐเอาไปใช้ สอง คนอยู่ใต้กฎหมายพร้อมที่จะเชื่อฟังหรือกลัว จึงยอมปฏิบัติตาม หากขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปหรือไม่มีทั้งสองอย่าง การใช้กฎหมายปิดปากก็ไม่สามารถทำได้ เมื่อก่อน การใช้ 112 อาจทำให้คนกลัว แต่ ณ วันนี้ เยาวชนจำนวนมากรวมทั้งแอมมี่ ไม่มีทีท่ากลัวหรือกังวลกับการโดนคดี 112 แล้ว นี่แสดงให้เห็นว่า การใช้ 112 ไม่สำเร็จตามที่รัฐต้องการ ตรงกันข้าม จะยิ่งเป็นชนวนที่ทำให้คนต่อต้านมากขึ้น ดังที่เริ่มเกิดเป็นกระแสแฮชแท็ก มีการเผา แล้วถ่ายรูปมาลงในทวิตเตอร์กัน

ปิยบุตร เสริมว่าการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ในช่วงเวลาหนึ่งอาจเป็นยาแรงที่ทำให้คนไม่กล้าแสดงออก ทำให้คนกลัว แต่เมื่อยุคสมัยและสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนไป เมื่อประชาชนมีความคิดเห็นก้าวหน้ามากขึ้นทั้งในทางปริมาณและคุณภาพ คนก็เริ่มไม่กังวลกับมาตรา 112 ปรากฏการณ์ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่าถ้าวันนั้นมาถึง ไม่ว่าจะใช้กฎหมายมาตราไหนก็ไม่สำเร็จ ในทางตรงกันข้ามจะยิ่งกระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น ขอให้เจ้าหน้าที่ใช้วิจารณญาณให้รอบคอบและความอดทนอดกลั้นต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง

เมื่อมีผู้เข้าร่วม Clubhouse ตั้งคำถามถึงข้อหาจากกรณีการทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ว่าเหตุใดจึงมีปฏิกิริยาที่รุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐ ปิยบุตร ชี้ว่าในความเห็นของตน การแสดงออกลักษณะที่แอมมี่ทำ ไม่เข้าองค์ประกอบตามความผิดมาตรา 112 เพราะไม่ได้เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย ไปได้ไกลที่สุดคือทำให้เสียทรัพย์ หากพิจารณาร่วมกับแนวทางคำพิพากษากรณี 6 วัยรุ่นที่จังหวัดขอนแก่นเมื่อปี 2561 ก็มีลักษณะคล้ายกัน คือศาลพิพากษาให้มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ แต่ไม่เข้าองค์ประกอบมาตรา 112 แม้จำเลยจะรับสารภาพ อย่างไรก็ตาม ก็คาดเดาไม่ได้ว่าศาลจะว่าอย่างไรกันแน่

การบังคับใช้มาตรา 112 ระยะหลังเกิดจากการให้สัมภาษณ์ของพลเอกประยุทธ์ว่าจะกลับมาใช้ จึงมีการตั้งข้อหาย้อนหลัง การกระทำหลายกรณีเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว ก่อนหน้านี้ตั้งข้อหามาตรา 116 ตั้งข้อหา พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ตั้งข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นี่แต่รู้สึกว่ายังเอาไม่อยู่ ยังชุมนุม ยังพูดไม่เลิก ก็เลยเอา 112 มาใช้ เพราะโทษหนัก ทั้งที่หลายเรื่องไม่เข้าองค์ประกอบมาตรา 112 เลย แต่ก็เหมือนเดิม ตำรวจก็เขียนๆ สำนวน สั่งฟ้อง ก็เอา 4 คนแรกก่อน ไม่ได้ประกันตัว แล้วประเมินสถานการณ์ไป

“นี่คือการเอากฎหมายมาปิดปาก เอากระบวนการยุติธรรมมาใช้เป็นเครื่องมือ ทีนี้พอยิ่งใช้แล้วคนไม่กลัว จะยิ่งเสื่อม พูดกันตรงไปตรงมา มาตรา 112 หากใช้มากขึ้น ก็ยิ่งย้อนแย้ง เราโฆษณาไปทั่วโลกว่าสถาบันฯ ของไทยเป็นที่เคารพนับถือ เป็นมรดกตกทอดทางประวัติศาสตร์ เป็นศูนย์รวมจิตใจ แต่ทำไมมีคนโดนคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์เยอะขนาดนี้ ดังนั้นการนำ 112 มาใช้มากๆ ไม่เพียงแต่เป็นการนำกฎหมายมาปิดปากเท่านั้น แต่ยิ่งใช้มาก ก็ยิ่งอันตราย และอาจกระทบถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย”

ปิยบุตร แสงกนกกุล

ฝากถึงบุคคลที่ตกใจ ไม่พอใจ ไม่สบายใจ กับการแสดงออกทางสัญลักษณ์ของแอมมี่ว่า “ผมคิดว่าเราเป็นเพื่อนมนุษย์ เราเป็นเพื่อนร่วมชาติกัน จำเป็นที่จะต้องอยู่อาศัยด้วยกันในแผ่นดินนี้ต่อไป การจะอยู่ด้วยกันได้ก็จำเป็นต้องยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง ในสังคมประชาธิปไตยต้องมีความอดทนอดกลั้นซึ่งกันและกัน อย่าใช้วิธีการล่าแม่มด อย่าพาดหัวข่าวให้คนเกลียดชังกัน ฝากถึงทั้งคนที่มีอำนาจรัฐ ฝ่ายอนุรักษ์นิยม และฝ่ายกษัตริย์นิยมที่ไม่สบายใจกับการกระทำ เราต้องพยายามสร้างสังคมที่มีวุฒิภาวะ ยอมรับการแสดงออกซึ่งกันและกัน มีเมตตาต่อกัน เราจะได้อยู่ร่วมกันฉันเพื่อนร่วมชาติ”

การทำลายรูปหนึ่งรูปไม่ได้ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์อ่อนแอลง ไม่ได้กระทบต่อความมั่นคงของสถาบันฯ ถ้าหากใครก็ตามบอกว่าการเผารูปหนึ่งรูปทำให้สถาบันกษัตริย์อ่อนแอลง กระทบต่อความมั่นคงของสถาบัน คิดแบบนี้ ก็ยิ่งทำให้มองได้ว่าสถาบันฯอยู่ในสถานะที่ไม่มั่นคงอย่างนั้นหรือ เพียงเผารูป ก็ทำให้สถาบันสั่นคลอนแล้วอย่างนั้นหรือ

“แต่แน่นอนว่ากรณีแอมมี่เผาพระบรมฉายาลักษณ์อาจจะกระทบกับจิตใจของคนที่รักสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่บ้าง ก็ต้องอดทน มีเมตตา และให้อภัยต่อกัน การใช้กฎหมายปิดปาก เอาไปขังคุก ตามล่าแม่มด ไม่ได้ทำให้ผู้ชุมนุมกลับมาเปลี่ยนความคิดที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ได้ หากต้องการให้พวกเขามีทัศนคติที่ดีต่อสถาบันฯ การเอาเขาไปขัง ไม่มีทางทำให้เขาเปลี่ยนได้ มีแต่ต้องพูดคุยกันเท่านั้น ซึ่งก็รวมถึงฝ่ายที่ต้องการปฏิรูปสถาบันฯด้วย จำเป็นต้องคุยกับคนที่คิดต่าง เพื่อทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน” เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าว

ชงยกเลิก 112 ทุกฝ่ายในสังคมเห็นร่วมกัน ชวนประชาชนเข้าชื่อเสนอสภาฯ

ปัญหาของมาตรา 112 หลักๆ คือ 1) อยู่ในหมวดความมั่นคง 2) ไม่ได้แยกเรื่องการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย ออกจากกัน 3) ไม่มีเหตุยกเว้นความผิด ไม่มีเหตุยกเว้นโทษ 4) อัตราโทษสูง 5) ใครๆ ก็ไปร้องทุกข์กล่าวโทษได้ 6) ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามาตรา 112 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ จากปัญหาทั้งหมดประกอบกับสถานการณ์การใช้มาตรา 112 ในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องยกเลิก โดยยังมีกฎหมายคุ้มครองกษัตริย์อยู่ นั่นคือ การใช้กฎหมายหมิ่นประมาทแบบคนธรรมดาได้

ปิยบุตร บรรยายต่อว่ามาตรา 112 ถูกรวมไว้ในหมวดของความมั่นคง เพราะเป็นมรดกตกทอดจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยมีวิธีคิดคือมองว่าพระมหากษัตริย์คือรัฐ เมื่อมีอะไรมากระทบความมั่นคงของกษัตริย์ก็เท่ากับกระทบความมั่นคงของรัฐด้วย ดังนั้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยฯ แล้ว เรื่องเกียรติยศชื่อเสียงของพระมหากษัตริย์ มาตรา 112 จึงไม่ควรอยู่ในหมวดความมั่นคงต่อไป

อีกทั้งบทลงโทษไม่สมควรแก่เหตุ ไม่มีใครควรต้องเข้าคุก เพราะการพูด ขีดเขียน หรือแสดงออก กรณีที่ให้ใครไปร้องทุกช์กล่าวโทษก็ได้ ทำให้มีการใช้ 112 เป็นเครื่องมือกลั่นแก้งกัน แท้จริงแล้วการหมิ่นประมาท ผู้เสียหายต้องประเมินเองว่าจะริเริ่มดำเนิคคดีหรือไม่ ไม่ใช่ธุระกงการของคนอื่นที่จะมาฟ้องแทนกัน

ส.ส.พรรคก้าวไกล ร่วมกันยื่นร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา 2 ฉบับ
ส่วนที่เกี่ยวข้องกับบทลงโทษเจ้าพนักงานและส่วนของความผิดฐานหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์ (มาตรา 112)

ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ ส.ส. พรรคก้าวไกลเข้าชื่อเสนอในสภาฯ มีเรื่องการแก้ไขประเด็นนี้ คือให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ริเริ่มคดี เช่นเดียวกัน สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีการตั้งคณะกรรมการปรองดองฯที่มีคณิต ณ นคร เป็นประธาน ก็เคยเสนอให้แก้ไข ม.112 รัฐบาลสมัยนั้นมีความกังวลใจกับการฟ้อง 112 กันมั่วๆ จึงมีการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองว่าควรดำเนินคดีต่อหรือไม่อย่างไร แสดงให้เห็นว่าฝักฝ่ายทางการเมืองต่างก็เล็งเห็นเรื่องการปล่อยให้ใครฟ้องก็ได้

ปิยบุตรเห็นว่าการยกเลิกหรือการแก้ไข ม. 112 น่าจะเป็นประเด็นแรกๆ ของการปฏิรูปสถาบันที่ฝ่ายรอยัลลิสต์เห็นตรงกันว่ามีปัญหา ขณะนี้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมไม่สามารถอ้างเหตุผลว่าประเทศไทยไม่เหมือนประเทศอื่นได้อีกต่อไป จึงเริ่มหันมาใช้คำอธิบายตามกระแสโลกสมัยใหม่คือเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้ามาด้วย ต้องช่วยกันทำความเข้าใจกันว่ามาตรา 112 เป็นเรื่องของการหมิ่นประมาท 112 ไม่ได้เท่ากับสถาบันกษัตริย์ 112 ไม่ได้เท่ากับรัฐ และมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงมาตรา 112 มาแล้ว

การคุ้มครองเกียรติยศชื่อเสียงของบุคคล คือ ข้อจำกัดของเสรีภาพในการแสดงออก แต่ข้อจำกัดนี้ต้องไม่กินเสรีภาพจนหมดตัว จนกลายเป็นว่าไม่สามารถใช้เสรีภาพในการแสดงออกได้ วิธีคิดแบบเก่ามองว่าผู้ที่ใช้อำนาจรัฐทั้งหลายต้องมีกฎหมายคุ้มครองมากขึ้นกว่าคนธรรมดา ส่วนวิธีคิดแบบใหม่มองว่ายิ่งเป็นบุคคลสาธารณะยิ่งต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ ดังนั้นข้อจำกัดที่จะคุ้มครองยิ่งต้องลดลง เพราะการวิจารณ์บุคคลสาธารณะมีโอกาสเกี่ยวข้องกับการปกป้องผลประโยชน์สาธารณะมากกว่าเรื่องส่วนตัว

ด้านหนึ่งการเรียกร้องให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ต้องอาศัยแรงกดดันจากภาคประชาชนต่อไป ช่องทางการแก้ไขหรือยกเลิกสามารถทำได้โดยต้องอาศัยประชาชนเข้าชื่อกัน แล้วไปยื่นที่สภาฯ อย่างน้อยถ้าประชาชนเข้าชื่อยื่นร่างไปด้วยจะเป็นการกดดันต่อสภาผู้แทนราษฎร และร่างที่ ส.ส. พรรคก้าวไกลยื่นเข้าไปก็จะถูกดึงขึ้นมาพิจารณาประกอบกับร่างของภาคประชาชนได้เร็วขึ้นไม่ต้องต่อคิวยาว

ปิยบุตร ทิ้งท้ายว่ากรณีเผาพระบรมฉายาลักษณ์เป็นเรื่องละเอียดอ่อน อยากให้ใช้ความอดทนอดกลั้นซึ่งกันและกัน มีอุทาหรณ์จากประเทศเยอรมนี ในสมัยที่เป็นจักรวรรดิปรัสเซีย ในช่วงปลายรัชสมัยของ ไกเซอร์ วิลเฮล์มที่ 2 มีการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์เยอะมาก และเป็นหนึ่งในเหตุของการล่มสลายของจักรวรรดิปรัสเซียและเยอรมนีก็เข้าสู่สาธารณรัฐ

“ทุกคนมีเสรีภาพในการรณรงค์ที่จะพิจารณาว่าการกระทำนั้นจะยกระดับ จะทำให้สังคมตื่นรู้ปัญหาขึ้นมาพร้อมกันได้อย่างไร ซึ่งแต่ละคนก็มีวิถีทางต่างกันไป สามารถทำตามแบบที่แต่ละคนถนัด ทำตามแต่ที่แต่ละคนคิด ไม่จำเป็นต้องเคลื่อนไหวแบบเดียวกันหมด อย่างไรก็ตามเราต้องยืนยันเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกและยืนยันสิทธิตามกระบวนการยุติธรรมก่อน”

“ส่วนวิธีการในการรณรงค์ให้คนหันมาเห็นด้วยกับเรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ มีได้หลายรูปแบบ แต่ละคนก็ทำตามสิ่งที่ตัวเองถนัดและคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการ ส่วนตัวผมมองว่าการปฏิรูปสถาบันฯ อาศัยวิธีการชุมนุมอย่างเดียวยังไม่พอ ยังต้องหาทางไปสื่อสารกับคนที่ยังไม่เห็นด้วย ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุย อภิปราย เสวนา ชี้ให้เห็นปัญหาร่วมกัน” ปิยบุตร กล่าวกับผู้ฟัง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า