เราจะอยู่กันแบบไหน? 9 ปัญหากับ 1 คำถามสำคัญของประเทศไทย

26 มกราคม 2564

เอกสารแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ 3 ฉบับ ที่ไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ก่อให้เกิดคำถามถึงปัญหาด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ อำนาจการบริหารราชการแผ่นดินที่ผิดระบบ และพระราชอำนาจในระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ ดังท่ ปิยบุตร แสงกนกกุล เสนอไปใน สนามกฎหมาย ตอนที่ 14

เรายังสามารถพิจารณาปัญหาทางกฎหมายเพิ่มเติมได้อีก 9 ปัญหา ที่จะนำไปสู่ 1 คำถามสำคัญของประเทศไทย

1. สถานะของ “คณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ” เหมือนคณะกรรมการที่ส่วนราชการอื่นๆ ตั้งขึ้นตามกฎหมายหรือไม่?

การบริหารราชการแผ่นดินในระบบปกติ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีสามารถอาศัยอำนาจตามกฎหมายต่างๆ ในการตั้งคณะกรรมการได้ ทำให้ประเทศไทยมีคณะกรรมการเป็นจำนวนมาก

แต่ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าคณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ มีสถานะเป็นคณะกรรมการเหมือนคณะกรรมการอื่นๆ ที่แต่งตั้งตามกฎหมายหรือไม่?

2. คณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ สังกัดส่วนราชการใด? สังกัดส่วนราชการในระบบปกติ ส่วนราชการในพระองค์ หรือ สังกัดส่วนราชการแบบใด?

หากสังกัดส่วนราชการปกติ ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการฯ จะต้องขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำกระทรวงต่างๆ

หากพิจารณาว่าสังกัดส่วนราชการในพระองค์หรือไม่ ก็ไม่ใช่ เพราะกรมราชทัณฑ์และคณะกรรมการดังกล่าวไม่มีระบุไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ 2560

งานของโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ อยู่ใน กรมราชทัณฑ์ ซึ่งสังกัดกระทรวงยุติธรรมในส่วนราชการระบบปกติ แต่เอกสารการแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ กลับไม่มีการลงนามรับสนองฯ จากรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม หรือนายกรัฐมนตรี มีเพียงพระปรมาภิไธยในหลวงรัชกาลที่ 10 เท่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้น คณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ มีข้าราชการเข้ามาเป็นกรรมการโดยตำแหน่งจำนวนมาก ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบดีกรมอนามัย อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เจ้ากรมแพทย์ทหารบก เจ้ากรมแพทย์ทหารเรือ เจ้ากรมแพทย์ทหารอากาศ นายแพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ทั้งหมดนี้คือข้าราชการระดับสูงในส่วนราชการที่สังกัดรัฐบาล ไม่ใช่ข้าราชในพระองค์ จึงเกิดข้อสงสัยว่าคณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ สังกัดอยู่ที่ใด?

3. คณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ อยู่ในขอบเขตของ “คณะกรรมการ” ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งต้องปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวหรือไม่?

พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 กล่าวถึง กระบวนการ ขั้นตอน ของบรรดาเจ้าหน้าที่ และคณะกรรมการต่างๆ ในการออกคำสั่ง ว่ามีวิธีการขั้นตอนอย่างไร เช่น การเคารพสิทธิ์ของคู่กรณี การทำคำสั่งเป็นหนังสือ การเรียกให้คู่กรณีมาชี้แจง การทำเหตุผลประกอบคำสั่ง การเพิกถอนคำสั่ง-แก้ไขคำสั่ง

ตรงนี้ไม่ชัดเจนว่า คณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ จะต้องดำเนินงานตามขอบเขตของ “คณะกรรมการ” ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 หรือไม่?

4. คณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ อยู่ในขอบเขตของ “คณะกรรมการ” ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ซึ่งอาจถูกฟ้องคดีต่อศาลปกครองหรือไม่?

คณะกรรมการโดยปกติทั่วไป ซึ่งเกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติต่างๆ เมื่อกระทำการหรือใช้อำนาจใดๆ ก็ตามย่อมถูกโต้แย้งได้ ผ่านการอุทธรณ์ภายในคณะกรรมการหรือฟ้องคดีต่อศาลปกครอง

เมื่อคณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ มีสังกัดไม่แน่ชัดแบบนี้ จึงไม่ชัดเจนว่าหากมีกรณีพิพาทจะอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และจะสามารถถูกฟ้องร้องเป็นคดีในศาลปกครองได้หรือไม่?

5. อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบงานราชทัณฑ์โดยตรง มีอำนาจสั่งการ บังคับบัญชา บริหารจัดการ คณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ หรือไม่?

ในระบบบริหารราชการแผ่นดินปกติ การบริหารงานในกรมราชทัณฑ์ล้วนอยู่ภายใต้อำนาจบังคับบัญชาของ กรมราชทัณฑ์ ในสังกัดกระทรวงยุติธรรม โดยมีผู้บังคับบัญชาคือ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้บริหารฝ่ายนโยบายและฝ่ายการเมือง

เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประธาน เหล่าผู้บริหารตามลำดับชั้นในระบบราชการปกติจะมีอำนาจในการบริหาร สั่งการ ออกแนวนโยบาย เกี่ยวกับคณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ ได้หรือไม่?

6. คำสั่ง กฎ หรือระเบียบใดๆ ที่ออกมาจากคณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ จะสามารถถูกโต้แย้ง อุทรณ์ ฟ้องขอเพิกถอนประกาศ-คำสั่งต่างๆ หรือฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นได้หรือไม่?

หากคณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ มีการออกคำสั่ง กฎ ระเบียบใดๆ แล้วเกิดผลกระทบกับบุคคลภายนอก มีผู้เสียหาย ซึ่งในระบบปกติสามารถฟ้องร้องเป็นคดีความในศาลปกครองได้

แล้วคณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ จะสามารถถูกดำเนินการตามกฎหมายเฉกเช่นระบบราชการปกติได้หรือไม่?

7. คณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติกฎหมายใดในการแต่งตั้ง?

โดยปกติ ในการแต่งตั้งคณะกรรมการ องค์กรผู้มีอำนาจแต่งตั้งต้องอ้างบทบัญญัติของกฎหมายที่ให้อำนาจ เช่น อาศัยอำนาจตามมาตราใด กฎหมายใด เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น

แต่ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ 3 ฉบับ ล้วนไม่มีการกล่าวอ้างถึงฐานทางกฎหมายใดๆ เลย

8. การแก้ไข เปลี่ยนแปลง พระบรมราชโองการหรือประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ ต้องทำอย่างไร? หน่วยงานราชการมีอำนาจแก้ไข-เปลี่ยนแปลงหรือไม่?

หากฝ่ายบริหารผู้มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินเกี่ยวกับงานราชทัณฑ์ ต้องการยกเลิก โยกย้าย แต่งตั้ง เปลี่ยนองค์ประกอบ เปลี่ยนขอบเขตอำนาจหน้าที่ ภายในคณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ จะสามารถทำได้หรือไม่?

9. ในอนาคต หากพระมหากษัตริย์มีพระบรมราโชบายเกี่ยวกับการดำเนินโครงการต่างๆ ที่เป็นการบริหารราชการแผ่นดินอยู่ในขอบเขตงานของส่วนราชการอื่น แล้วมีการออกพระบรมราชโองการ พระราชหัตถเลขา ทำนองเดียวกับการแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ อีก โดยไม่มีรัฐมนตรีรับสนองฯ หรือปราศจากการอ้างฐานทางกฎหมายใด นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะปฏิบัติอย่างไร?

นี่คือปัญหาในทางกฎหมาย 9 ประการ จากกรณีคณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ

ในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ กษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐ ไม่ทรงใช้อำนาจโดยแท้ในทางการเมือง การบริหาร การลงพระปรมาภิไธยในพระบรมราชโองการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง มีอำนาจโดยแท้ในเรื่องนั้น ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเสมอ และเป็นผู้รับผิดชอบ

ในขณะที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ เป็นผู้มีอำนาจปกครองแผ่นดิน ทรงใช้พระราชอำนาจโดยแท้ตราพระราชบัญญัติ ประกาศกฎหมายต่างๆ บริหารบ้านเมืองด้วยพระองค์เอง และไม่ต้องรับผิดชอบ

ทั้งหมดนี้นำมาสู่หนึ่งคำถามสำคัญของประเทศไทย!

ว่าสุดท้ายแล้วประเทศไทยจะอยู่กันแบบไหน?

ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy)?

หรือ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy)?

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า