โครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ : การลงพระปรมาภิไธยและการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

21 มกราคม 2564

ระบอบประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ กษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐจะลงพระปรมาภิไธยในพระบรมราชโองการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน โดยต้องมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเสมอ

แต่ในเดือนมกราคม 2564 มีเอกสารเกี่ยวกับการแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ เป็นพระราชหัตถเลขาออกมา 1 ฉบับ และในปี 2562 มีเอกสารเกี่ยวกับการแต่งตั้งฯ เป็นพระบรมราชโองการรวม 2 ฉบับ โดยพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย แต่ไม่มีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

เอกสารเหล่านี้มีสถานะทางกฎหมายอย่างไร? และส่งผลให้มีปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อไปทั้งในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ ระบบราชการ และระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน อย่างไรบ้าง?

กษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ รัฐมนตรีเป็นผู้บริหารราชการแผ่นดิน

นับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ประเทศไทยเปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยให้พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ 

ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) พระมหากษัตริย์จะทรงดำรงฐานะเป็นประมุขแห่งรัฐ ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการลงพระปรมาภิไธย (Sign) เพื่อประกาศใช้พระบรมราชโองการต่างๆ โดยมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินและเป็นผู้ตัดสินใจ ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ (Countersign) เสมอ

สองบทบาทนี้สัมพันธ์กันอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะเป็นการบ่งชี้ตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งบทบาทผู้ใช้อำนาจบริหาร ขอบเขตอำนาจ และผู้รับผิดชอบตามครรลองแห่งรัฐธรรมนูญ

ความแตกต่างของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กับประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ คือ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ เป็นผู้มีอำนาจปกครองแผ่นดิน ทรงใช้พระราชอำนาจโดยแท้ตราพระราชบัญญัติ ประกาศกฎหมายต่างๆ โดยเป็นผู้ลงพระปรมาภิไธย (Sign) ด้วยพระองค์เอง ในขณะที่เสนาบดีทั้งหลายเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ (Countersign) มีหน้าที่คำสั่งไปปฏิบัติ

ส่วน ประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะประมุขของรัฐเท่านั้น อำนาจบริหารและนิติบัญญัติเป็นของรัฐสภา และมีผู้ใช้อำนาจบริหารคือ คณะรัฐมนตรี พระมหากษัตริย์ในฐานะผู้ลงพระปรมาภิไธย (Sign) ประกาศกฎหมาย แต่มิได้ใช้พระราชอำนาจโดยแท้ ขณะที่รัฐมนตรีเป็นผู้รับรองเซ็นกำกับ (Countersign) รัฐมนตรีจึงเป็นผู้ใช้อำนาจและรับผิดชอบต่อการตัดสินใจดังกล่าวผ่านการเซ็นกำกับรับรองต่อจากการลงพระปรมาภิไธยอีกชั้นหนึ่ง

พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ฉบับวันที่ 27 มิถุนายน 2475 รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย ระบุไว้ใน มาตรา 7 ว่า

“มาตรา ๗ การกระทำใด ๆ ของกษัตริย์ ต้องมีกรรมการราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดลงนามด้วยโดยได้รับความยินยอมของคณะกรรมการราษฎร จึ่งจะใช้ได้ มิฉะนั้น เป็นโมฆะ”

อันเป็นการแสดงถึงการปรับเปลี่ยนบทบาทของพระราชอำนาจอย่างใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญในฐานะพระมหากษัตริย์ผู้ซึ่ง “ทรงราชย์ แต่มิทรงปกครอง”

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 27 มิถุนายน 2475 กลับกลายเป็น “ฉบับชั่วคราว” จากการต่อรองของฝ่ายราชสำนัก และปรับปรุงแก้ไขใหม่จนกลายมาเป็นรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ย้ายข้อความเกี่ยวกับการสนองพระบรมราชโองการไปไว้ใน มาตรา 57 หมวดคณะรัฐมนตรีแทน โดยระบุว่า

“มาตรา ๕๗ บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการใด ๆ อันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ท่านว่ารัฐมนตรีนายหนึ่งต้องลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบ” 

และก็อยู่ในรัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน ถูกระบุอยู่ใน มาตรา 182 หมวดคณะรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญ 2560

“มาตรา ๑๘๒ บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดินต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญ”

ในขณะที่รัฐธรรมนูญก็รับรองสถานะของพระมหากษัตริย์ว่า “เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” และ “ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆมิได้” ซึ่งบทบัญญัตินี้จะบังเกิดผลได้ กษัตริย์ก็ต้องไม่มีอำนาจในทางการเมืองหรือการบริหารราชการแผ่นดิน แต่เป็นรัฐมนตรีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เป็นผู้มีอำนาจและรับผิดชอบ

วิษณุ เครืองาม เองก็เคยเขียนไว้ในตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญของตนเองว่า

“การลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ หมายถึงการลงนามกำกับการลงนามของพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้เพื่อรับรองว่า พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยโดยถูกต้องแล้ว ลายพระปรมาภิไธยที่ปรากฎก็เป็นของจริง และผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการยอมผูกพันตนเองรับผิดชอบแทนพระมหากษัตริย์ ในการที่ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชหัตถเลขา พระบรมราชโองการหรือกฎหมายนั้นๆ ในฐานะที่ตนเป็นผู้ริเริ่มหรือนำเรื่องนั้นขึ้นกราบบังคมทูล การลงนามรับสนองพระบรมราชโองการจะช่วยให้หลักที่ว่าพระมหากษัตริย์ไม่ทรงรับผิดชอบทางการเมือง (the King has no political accountability) และทรงวางพระองค์เป็นกลาง ตลอดจนหลักที่ว่า พระมหากษัตริย์ไม่อาจทรงทำอะไรโดยลำพังพระองค์ (the King cannot act alone) เป็นจริงขึ้น”

วิษณุ เครืองาม, กฎหมายรัฐธรรมนูญ, นิติบรรณการ, 2530, หน้า 319

3 ปัญหาใหญ่ กรณีไม่มีการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

กรณีเอกสารเกี่ยวกับการแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ อันเป็นพระบรมราชโองการในปี 2562 รวม 2 ฉบับ และเป็นพระราชหัตถเลขาเมื่อเดือนมกราคม ปี 2564 อีก 1 ฉบับ ซึ่งลงพระปรมาภิไธยโดยพระมหากษัตริย์

แต่กลับไม่มีการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการจากรัฐมนตรีตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ส่งผลให้เกิดคำถามและข้อสงสัยถึงปัญหาใหญ่ 3 ประการ คือ ปัญหาทางรัฐธรรมนูญมาตรา 182 การบริหารราชการแผ่นดินที่ซ้ำซ้อน และที่ทางของพระราชอำนาจในระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เข้ามาเหยียบย่างพื้นที่ทางการเมืองมากขึ้นทุกที

  1. ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี ด้วยหัวใจ วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2562 (ดูเอกสารที่นี่)
  2. ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี ด้วยหัวใจ วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 (ดูเอกสารที่นี่)
  3. พระราชหัตถเลขาแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2564 (ดูเอกสารที่นี่)

ประการแรก ปัญหาทางรัฐธรรมนูญในกรณีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจัทรไทย 2560 มาตรา 182 ระบุว่า

“บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดินต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญ”

แต่ในประกาศทั้ง 3 ฉบับ กลับไม่มีการรับสนองพระบรมราชโองการโดยนายกรัฐมนตรี

เมื่อดูจากจุดประสงค์ของโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ ซึ่งระบุไว้ว่า

“โรงพยาบาลราชทัณฑ์เป็นโรงพยาบาลแห่งเดียวในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ต้องให้บริการแก่ผู้ต้องขัง ในกรณีเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นจำนวนมาก ยังขาดแคลนบุคลากร เครื่องมือแพทย์ และเวชภัณฑ์ การดูแลสุขภาพของผู้ต้องขัง ถือเป็นหน้าที่สำคัญของกรมราชทัณฑ์ ในการที่จะให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรับการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมตามหลักมนุษยธรรม ทั้งนี้ เมื่อพ้นโทษจะได้มีสุขภาพสมบูรณ์ทั้งกายและใจ ออกมาสู่สังคมภายนอกและประกอบอาชีพสุจริตได้อย่างมีคุณภาพ โดยจะพระราชทานความช่วยเหลือในเรื่องการจัดหาอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ ตลอดจนการให้จิตอาสาพระราชทาน ‘เราทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์’ ได้เข้าไปมีบทบาทในการช่วยเหลือทั้งทางด้านการแพทย์ การพยาบาล การอบรมให้ความรู้ในเรื่องต่างๆ”

จุดประสงค์ของโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ แสดงให้เห็นว่าโครงการนี้มีความเกี่ยวข้องกับ “หน้าที่สำคัญของกรมราชทัณฑ์” ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับ “ราชการแผ่นดิน”

ดังนั้นประกาศทั้ง 3 ฉบับจึงควรต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ

ยิ่งไปกว่านั้น หากพิจารณาเปรียบเทียบกับในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จะพบว่ามีการรับสนองพระบรมราชโองการอยู่เสมอ แม้จะเป็นเรื่องภายในที่เกี่ยวข้องกับพระราชวงศ์ก็ตาม

ตัวอย่างเรื่องภายในเกี่ยวกับพระราชวงศ์

ประกาศสถาปนาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 (ดูเอกสารที่นี่) รับสนองพระบรมราชโองการ โดยนายกรัฐมนตรี (นายชวน หลีกภัย)

ประกาศเรื่องลาออกจากฐานันดรศักดิ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2557 (ดูเอกสารที่นี่) รับสนองพระบรมราชโองการ โดยนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา)

ในสมัยรัชกาลที่ 9 ใช้ระเบียบตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในพระองค์ พ.ศ. 2552 ซึ่งข้าราชการในพระองค์ยังคงขึ้นอยู่กับหน่วยงานราชการในระบบปกติ ซึ่งขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี การแต่งตั้ง โยกย้าย และปลดข้าราชการในหน่วยงานฯ จึงต้องมีการลงนามรับสนองฯโดยผู้บังคับบัญชา เช่น เลขาธิการสำนักพระราชวัง แต่ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยงานโดยตรง จะต้องลงนามรับสนองฯโดยนายกรัฐมนตรี

ตัวอย่างเรื่องการแต่งตั้งข้าราชการในพระองค์

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนในพระองค์ วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2543 (ดูเอกสารที่นี่) รับสนองพระบรมราชโองการ โดยนายกรัฐมนตรี (นายชวน หลีกภัย)

ประกาศแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนในพระองค์ วันที่ 17 ธันวาคม 2543 (ดูเอกสารที่นี่) รับสนองพระบรมราชโองการ โดยนายกรัฐมนตรี (นายชวน หลีกภัย)

เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับประกาศในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ์ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมถึงเมื่อครั้งที่ยังทรงดำรงพระยศมกุฏราชกุมารประกอบนั้น กลับมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

ตัวอย่างกรณีการปลดข้าราชการในพระองค์

คำสั่งสำนักพระราชวัง ที่ 468/2557 วันที่ 23 พฤศจิกายน 2557 (ดูเอกสารที่นี่) ลงนามโดย จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองเลขาธิการสำนักพระราชวัง รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักพระราชวัง

คำสั่งหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ที่ 656/2557 วันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557(ดูเอกสารที่นี่)  ลงพระปรมาภิไธยโดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร ไม่มีการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

คำสั่งหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ที่ 657/2557 วันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 (ดูเอกสารที่นี่)  ลงพระปรมาภิไธยโดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร ไม่มีการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

คำสั่งสำนักพระราชวัง ที่ 183/2560 เรื่อง ลงโทษไล่ข้าราชการออกจากราชการ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560 (ดูเอกสารที่นี่) ลงนามโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2560 มีการโอนย้ายหน่วยงานราชการในระบบปกติ ไปไว้ในส่วนราชการในพระองค์ ได้แก่

1. สำนักราชเลขาธิการและสำนักพระราชวัง

2. สำนักงานนายตำรวจราชสำนักประจำ (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ)

3. กรมราชองครักษ์ (กระทรวงกลาโหม)

4. หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ (กระทรวงกลาโหม)

เมื่อหน่วยงานเหล่านี้ถูกย้ายไปอยู่ภายใต้ส่วนราชการในพระองค์ ตามพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 มาตรา 13 ระบุว่า

เว้นแต่ข้าราชการในพระองค์ในตําแหน่งองคมนตรี การให้ข้าราชการในพระองค์ ผู้ใดปฏิบัติงานในส่วนราชการในพระองค์หน่วยใดและดํารงตําแหน่งใด รวมทั้งการโอน การย้าย และการให้พ้นจากตําแหน่ง ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย เพื่อการนี้จะทรงกําหนดหรือทรงมอบหมายให้ข้าราชการในพระองค์ผู้ใดเป็นผู้ลงนามในคําสั่งเกี่ยวกับการดํารงตําแหน่งของข้าราชการในพระองค์ดังกล่าวก็ได้

ข้าราชการในพระองค์จะเป็นองคมนตรี ข้าราชการในพระองค์ฝ่ายพลเรือน ข้าราชการในพระองค์ฝ่ายทหาร และข้าราชการในพระองค์ฝ่ายตํารวจ ในขณะเดียวกันมิได้”

จึงทำให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจในการแต่งตั้ง โยกย้าย ปลดออก ในหน่วยงานดังกล่าวทั้งหมดโดยไม่จำเป็นต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ แต่สำหรับการปลดข้าราชการในพระองค์ออกก่อนวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2560 ก็ยังคงต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการอยู่

จากตัวอย่างทั้งหมดนี้ และเมื่อพิจารณาจากพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 กรมราชทัณฑ์มิได้อยู่ในขอบข่ายของพระราชอำนาจในการลงพระปรมาภิไธยออกประกาศคำสั่งตามพระราชอัธยาศัย เพราะกรมราชทัณฑ์อยู่ในหน่วยงานราชการในระบบปกติ และเป็นการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ได้ถูกโอนไปเป็นส่วนราชการในพระองค์

ประการที่สอง ภารกิจซ้ำซ้อน

หน่วยงานราชการในแต่หน่วยงานล้วนมีภารกิจและขอบข่ายอำนาจของตนเอง เมื่อพิจารณาดูภารกิจของกรมราชทัณฑ์ตาม กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมราชทัณฑ์กระทรวงยุติธรรม พ.ศ. 2561 ระบุว่า

… ให้กรมราชทัณฑ์ มีภารกิจเกี่ยวกับการควบคุมและแก้ไขพฤตินิสัยผู้ต้องขังและบุคคลที่อยู่ในความควบคุมหรือดูแลตามหน้าที่และอำนาจของกรม โดยมุ่งพัฒนาเป็นองค์กรพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ … ให้กลับตนเป็นพลเมืองดี มีสุขภาพกายและจิตที่ดี …”

และ “ดำเนินการเกี่ยวกับการสวัสดิการและการสงเคราะห์แก่ผู้ต้องขัง และบุคคลที่อยู่ในความควบคุมหรือดูแลตามหน้าที่และอำนาจของกรม”

โครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ อาจก่อให้เกิดการทับซ้อนด้านภารกิจของหน่วยงาน

ประการที่สาม ปัญหาการบริหารราชการแผ่นดิน

คณะกรรมการของโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ ทับซ้อนกับอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานราชการปกติ คือ กรมราชทัณฑ์ และไม่สามารถระบุได้ว่าสถานะของโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ อยู่ภายใต้หน่วยงานราชการในระบบปกติ หรือ ส่วนราชการในพระองค์

กล่าวได้ว่า คณะกรรมการของโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ กลายเป็น “หน่วยงานใหม่?” ภายใต้พระราชอัธยาศัยของสถาบันพระมหากษัตริย์ ผ่านการออกพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการต่างๆ เพื่อสนองตอบต่อพระบรมราโชบายไปโดยปริยาย

ทำให้องคาพยพของฝ่ายบริหารในประเทศไทยทับซ้อนกันไปมา ไม่แน่ชัดว่ามีพระราชบัญญติใดรองรับ อันจะยังผลให้เกิดการทับซ้อนทางอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินต่อไป และยังเกิดปัญหาพร้อมคำถามที่ตามมา

อาทิเช่น หากมีงานของโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ โดยในหลวงรัชกาลที่ 10 มีพระราชประสงค์จะดำเนินการผ่านพระบรมราโชบายอันเกี่ยวข้องกับกรมราชทัณฑ์ หน่วยงานราชการจะต้องทำตามนโยบายดังกล่าวหรือไม่? หรือสมมติว่า ในอนาคต เกิดมีพระบรมราโชบายให้ดำเนินการที่อยู่ในวงงานของหน่วยงานอื่นๆ เช่น กรมที่ดิน กรมชลประทาน กองทัพบก กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ กรมป่าไม้ เป็นต้น แล้วมีการออกพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำนองเดียวกันกับคณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ อีก ก็จะทำให้เกิดการทับซ้อนทางภารกิจและไม่ชัดเจนในการบังคับบัญชาผิดระบบยิ่งไปกว่าเดิม

อ่านต่อ : 9 ปัญหาในทางกฎหมาย และ 1 คำถามสำคัญ กรณีการลงพระปรมาภิไธยโดยไม่มีผู้รับสนองฯ โครงการราชทัณฑ์ปันสุข

รักษาสถานะความเป็นกลางทางการเมืองของพระมหากษัตริย์

การแต่งตั้งคณะกรรมการในโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ ก่อให้เกิดปัญหาทับซ้อนตามกันมาในเชิงกฎหมาย โดยปกติ ผู้ใดที่เดือดร้อนเสียหายจากการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานใด ก็สามารถฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้

แต่เมื่อโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ ซึ่งเป็นงานอยู่ในกรมราชทัณฑ์มีพระมหากษัตริย์เป็นองค์ประธานที่ปรึกษา มีพระราชธิดาเป็นองค์ประธาน หากมีข้อพิพากทางกฎหมายเกิดขึ้น จะทำให้เกิดปัญหาว่าจะฟ้องร้องเอาผิดอย่างไรกันแน่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่า

“มาตรา ๖ องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได”

การไม่มีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ในประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ อาจนำมาสู่การตั้งคำถามต่อความเป็นกลางของสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะมีการใช้อำนาจล้ำเข้ามาในแดนสาธารณะหรือการบริหารราชการแผ่นดิน

เพราะพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ต้องยึดหลัก ‘The King Can Do No Wrong’ เพราะ ‘The King Can Do Nothing’ คือพระมหากษัตริย์ไม่ทรงกระทำผิด เพราะ พระมหากษัตริย์ไม่ทรงกระทำการใดเลย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า