ปิยบุตร แสงกนกกุล : จดหมายเปิดผนึกกรณี 10 สิงหาคม 2563

6 กันยายน 2563

หากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 7 คนไม่ทำให้ผมพ้นจากการเป็นผู้แทนราษฎร ผมตั้งใจจะอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะ “ผู้แทน” ของราษฎร เกี่ยวกับกรณีการแสดงออกของนักศึกษาเมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา เมื่อไม่มีโอกาสอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ผมจึงขอใช้วิธีการเขียนเป็น “จดหมายเปิดผนึก” แทน

ผมใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งแต่ปี 2540 จบการศึกษาปริญญาตรีปี 2544 และเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำต่อ จากนั้นลาไปศึกษาต่อต่างประเทศจนจบการศึกษาปริญญาเอก กลับมาสอนหนังสือจนถึงสิงหาคม 2561 ก็ได้ลาออกจากราชการเพื่อมาก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่และลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.

รวมเวลาที่ผมใช้ชีวิตอยู่ในธรรมศาสตร์ 21 ปี มีโอกาสคลุกคลีกับนักศึกษามากกว่าทศวรรษ ทำให้ผมรู้จักกับพลังและความกระตือรือร้นของพวกเขาเป็นอย่างดี

ช่วงวัยของนักเรียน นิสิต นักศึกษา คือ ช่วงวัยแห่งความพลุ่งพล่าน ช่วงวัยแห่งแห่งความต้องการต่อต้านไม่รับสิ่งที่มีอยู่เดิม ช่วงวัยแห่งความต้องการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่

ความคิดสร้างสรรค์ จิตวิญญาณของความเป็นขบถของเยาวชนคนรุ่นใหม่ คือ สิ่งดีงาม และเป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง เราไม่ควรนำกฎระเบียบความเชื่อ ทั้งที่ปรากฏในรูป “กฎหมาย” และ “ธรรมเนียม” ไปกีดขวางพวกเขา แต่เราควรทำความเข้าใจถึงความปรารถนาของพวกเขา พูดคุยกันฉันมิตรดังเพื่อนร่วมชาติ

ต้องไม่ลืมว่าโลกมนุษย์อยู่มาได้จนทุกวันนี้ ก็เพราะความก้าวหน้า หากทุกสิ่งทุกอย่างเป็นดังเดิม หากไม่มีการต่อต้านขัดขืนสิ่งที่เป็นอยู่ หากทุกคนยอมตามสิ่งเดิมหมด สิ่งใหม่ๆย่อมไม่เกิดขึ้น

เทคโนโลยีทันสมัย วิทยาศาสตร์ นวัตกรรม สิทธิมนุษยชน ระบบเศรษฐกิจ ระบบการปกครอง ที่พวกเราใช้กันอยู่ ต่างก็เกิดจากการยืนกรานต่อสู้กับสิ่งเดิม แล้วเปลี่ยนให้เป็นสิ่งใหม่ที่ก้าวหน้าขึ้นทั้งนั้น

นักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน เขาต้องอยู่ในโลกนี้อีกนาน เขาจึงมีความชอบธรรมที่จะส่งเสียงเรียกร้อง และกำหนดอนาคตของสังคมที่เขาต้องอยู่ได้

พวกเขา คือ อนาคตของชาติ

สังคมใดที่คนรวมหัวกันฆ่าอนาคตของชาติ สังคมนั้นย่อมไม่มีอนาคต

ข้อเสนอ 10 ข้อจากเวทีการชุมนุม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” ในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 คือ ความจริง กลั่นกรองออกจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในสังคมไทยมาหลายทศวรรษ

มันอาจเป็น “ความจริงอันน่ากระอักกระอ่วนใจ” ของใครบางคน บางกลุ่ม

แต่ถ้าพวกท่านพอจะซื่อสัตย์กับตนเองอยู่บ้าง ไม่โกหกตนเอง พวกท่านคงต้องยอมรับว่า ในช่วงชีวิตของพวกท่าน ท่านต่างก็เคยคิดถึงประเด็นปัญหาเหล่านี้กันทั้งนั้น

นี่ไม่ต้องนับรวมว่า พวกท่านต่างก็เคยซุบซิบนินทากันกันในวงข้าว วงเหล้า วงสังคมอันสูงส่งของพวกท่านกันมาไม่มากก็น้อย

พวกท่านอาจไม่สบายใจกับรูปแบบเวทีการชุมนุม การแสดงออกบางอย่างบนเวทีชุมนุม

พวกท่านอาจโกรธกับท่าทีหรือน้ำเสียงของผู้ปราศรัย

พวกท่านอาจตะขิดตะขวงใจว่าทำไมต้องพูดเรื่องเหล่านี้บนเวทีชุมนุม ทำไมไม่คุยกัน “หลังบ้าน” หรืออย่างน้อยก็ในเวทีวิชาการ

นั่นเป็นเพียง “รูปแบบ” ซึ่งอาจเห็นต่างกัน อาจแจ้งเตือนกัน อาจขอความร่วมมือกันในฐานะผู้ผ่านประสบการณ์มาก่อน

แต่ไม่ควรนำมากลบข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่จริง

และยิ่งไม่ควรบิดเบือนให้พวกเขากลายเป็นพวก “ล้มเจ้า” หรือ “ชังชาติ” หรือ “ถูกล้างสมอง”

ข้อเสนอทั้ง 10 ข้อของพวกเขา ไม่ได้ทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนรูปแบบของรัฐ ประเทศไทยยังคงเป็นราชอาณาจักร มีพระมหาษัตริย์เป็นประมุขของรัฐสืบทอดทางสายโลหิต เช่นเดิม

ข้อเสนอทั้ง 10 ข้อของพวกเขา ไม่มีตรงไหนที่กระทบถึงการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศไทย

ตรงกันข้าม ข้อเสนอทั้ง 10 ข้อของพวกเขา คือ การนำสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าสำคัญอย่างยิ่งยวดขึ้นมาพูดคุยอย่างเปิดเผย จริงใจ ตรงไปตรงมา ทั้งหมดก็เพื่อธำรงรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย

การผลักไสให้พวกเขาเป็นพวก “ล้มเจ้า” “ชังชาติ” ก็ดี

การใช้ “กฎหมาย” เป็นเครื่องมือเพื่อ “ปิดปาก” พวกเขา ก็ดี

การประดิษฐ์สร้างให้พวกเขาเป็น “วายร้าย” หรือ “ศัตรูของรัฐ” ก็ดี

ทั้งหมดนี้ไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ รังแต่จะทำให้สถานการณ์แย่ลงกว่าเดิม

วิธีการเหล่านี้ ไม่สามารถตัดไฟแต่ต้นลมได้ แต่มันจะกลายเป็นชนวนจุดไฟให้ลามทุ่ง

ผมยืนยันมาโดยตลอดตั้งแต่สมัยเป็นนักวิชาการจนกระทั่งมาเป็นนักการเมืองว่า ประเทศไทยต้องเป็นราชอาณาจักร ปกครองในระบอบประชาธิปไตย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

นั่นก็คือ Kingdom + Democracy + Parliamentarism = Constitutional Monarchy

หลักการทั้งสาม อันได้แก่

  1. ความเป็นราชอาณาจักรที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขสืบทอดทางสายโลหิต
  2. หลักการประชาธิปไตยที่ยืนยันให้อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน และแสดงออกทางตรงโดยการประชามติ หรือแสดงออกผ่านทางองค์กรของรัฐ ได้แก่ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล
  3. ระบบรัฐสภา สมาชิกสภามาจากการเลือกตั้งของประชาชน และรัฐบาลมาจากความเห็นชอบของสภา

เมื่อผสมผสานหลักการทั้งสามนี้เข้าไว้ด้วยกัน ก็ออกมาเป็นการปกครองที่ชื่อว่า Constitutional Monarchy

“ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” มีพัฒนาการตามยุคสมัย บางช่วงบางเวลา สถาบันหนึ่งอาจมีอำนาจมากกว่าสถาบันหนึ่ง บางช่วงบางเวลา เพดานสูง บางช่วงบางเวลา เพดานต่ำ นั่นก็เป็นพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ตามบริบท ข้อเท็จจริง

ดังนั้น การพูดคุยถึงสถาบันต่างๆในรัฐธรรมนูญ เพื่อปรุงแต่งผสมผสานให้ออกเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จึงเป็นเรื่องปกติ

ดังที่เราเคยพบเห็นการอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในอดีต ดังที่เราเคยพบเห็นการจัดเสวนาทางวิชาการในอดีต

มนุษย์เรา เมื่อถูกล่ามโซ่ตรวนไว้อยู่ในถ้ำมืดมิดเป็นเวลานาน ก็อาจคุ้นชิน จนเมื่อปลดโซ่ตรวนแล้วเดินออกจากถ้ำ ไปพบแสงสว่างเข้า ก็อาจทรมานเจ็บปวดตาอยู่บ้าง แต่หากยอมรับว่านี่คือความจริงแล้วอยู่กับมันให้ได้ ปรับเปลี่ยนตนเองให้สอดรับกับความจริง ก็จะกลับสู่ภาวะปกติ

กาลเวลาหมุนเดินหน้ามาสู่ศตวรรษที่ 21 เราฝืนกฎธรรมชาติไม่ได้ สังคมก้าวรุดหน้าไปตามกาลสมัย การทวนเข็มนาฬิกาให้กลับไปที่เดิม สุดท้ายเข็มนาฬิกานั้นก็เดินหน้ากลับมาใหม่อยู่ดี

ในห้วงยามหัวต่อหัวเลี้ยวเช่นนี้ มีแต่ประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ดำรงอยู่ในสังคมไทยอย่างทรงพระเกียรติยศ อย่างมั่นคงสถาพร เป็นศูนย์รวมจิตใจ เป็นมิ่งขวัญแก่อาณาประชาราษฎร์

มีประชาธิปไตยเป็นตัวตั้งพื้นฐาน เพื่อรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์

ร่วมมือกันเถอะครับ

ทั้งนักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน และผู้อาวุโสที่ผ่านประสบการณ์มามาก

ทั้งประชาชนหาเช้ากินค่ำ และเศรษฐีผู้มั่งมี

ทั้งข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และนักการเมือง

ทั้งนักการเมืองฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.

ทั้งชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยม และฝ่ายก้าวหน้า

ทั้งหมดทุกคน เราต่างก็เป็นประชาชนคนไทยผู้อยู่อาศัยในผืนแผ่นดินนี้ด้วยกัน ต่อให้เราเห็นต่างกัน ไม่ชอบกัน เกลียดขี้หน้ากัน แต่เราก็หนีกันไม่พ้น อย่างไรเสีย เราก็เป็นเพื่อนร่วมชาติ และไม่มีใครรักชาติมากน้อยไปกว่ากัน

ยังพอมีเวลาและโอกาส อย่าทำให้สถานการณ์เลื่อนไถลไปรุนแรงจนไม่มีใครควบคุมหรือคาดคิดได้

ร่วมมือกันทุกฝักฝ่ายเถอะครับ เพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตย และธำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า