อ่านเศรษฐกิจสามสี ออกแบบทุนนิยมไทยหลังโควิด-19

4 สิงหาคม 2564

เมื่อวันเสาร์ที่ 31 กรกฎคามที่ผ่านมา Common School โดยคณะก้าวหน้าได้จัดกิจกรรม Reading Group ครั้งที่ 10 ในครั้งนี้เราหยิบหนังสือเศรษฐกิจสามสี ออกแบบทุนนิยมโทย โดยมี รศ.ดร.วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร ผู้เขียนหนังสือ และ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มาให้ผู้อ่านได้ร่วมแลกเปลี่ยนกัน  

บรรยากาศของกิจกรรมในครั้งนี้เต็มไปด้วยบทสนทนาแห่งความหวัง พร้อมๆ กับสายตาอันแหลมคมในการมองปัญหาที่ทำให้เรามองเห็นโอกาสความเป็นไปได้ใหม่ๆ เพื่อหาทางออกให้กับสังคมไทยในห้วงยามที่เราต้องเผชิญกับความยากลำบาก และมืดมนเช่นนี้ ทีมงาน Common School ได้เรียบเรียงประเด็นสำคัญมาให้ผู้ที่พลาดกิจกรรมได้อ่านกัน

ชำแหละยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี : แช่แข็งอนาคตประเทศไทย

รักชนกเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งเป็นหัวหอกหลักของรัฐไทยในการวางแผนพัฒนาให้ประเทศไทยจะทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยมาก เพราะประเทศจะพัฒนาอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศที่เราออกแบบด้วย

อาจารย์วีระยุทธตอบคำถามในประเด็นนี้ว่า ประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2504 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ต้องบอกว่า ไทยประสบความสำเร็จในบางด้านเช่น ด้านเศรษฐกิจมีอัตราการเติบโตที่ค่อนข้างดีกว่าหลายภูมิภาค แต่ก็ยังตามหลังประเทศที่มีจุดเริ่มต้นในการพัฒนาที่ใกล้เคียงกันอย่างเกาหลีใต้ ไต้หวัน ผลที่ตามมาจากการพัฒนาเช่นนี้คือ ความเหลื่อมล้ำที่กลายเป็นปัญหาที่สะสมจนแก้ไขได้ยากเพราะ ขาดการวางแผนในการพัฒนามาตั้งแต่ต้น 

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์เป็นเพียงการเอาคำว่า ‘ยุทธศาสตร์’ มาใช้โดยไม่ได้เข้าใจว่า ประเด็นสำคัญของการออกแบบยุทธศาสตร์คือ ต้องเข้าใจต้นทุนผลได้ของการพัฒนาเสียก่อนว่า ถ้าเลือกเส้นทางการพัฒนาแบบนี้แล้วใครได้ใครเสีย อะไรที่มีความสำคัญก่อนหลังในการพัฒนา แล้วจะเกิดผลเสียอะไร ประชาชนรับรู้หรือไม่ ถึงจะเรียกว่าเป็นหลักการในการออกแบบยุทธศาสตร์ 

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของไทยจึงไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานคิดแบบนี้ แต่เป็นการเอาสิ่งที่หน่วยงานราชการไทยอยากทำมาจัดหมวดหมู่ ใส่คำใหญ่คำโตเข้าไปให้ดูสวยงาม แต่สุดท้ายให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางทหารมากกว่าเรื่องเศรษฐกิจ เมื่อยุทธศาสตร์ชาติมีความแข็งตัวเช่นนี้ทำให้ไม่สามารถปรับตัวได้เผชิญหน้ากับวิกฤตโควิด-19 ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ หากประเมินยุทธศาสตร์ชาติของไทยที่มีอยู่คงต้องบอกว่า ‘ค่อนข้างล้มเหลว’ 

“แก่นที่สำคัญคือ การที่เราจะออกแบบอนาคตได้ เราต้องอาศัยความเข้าใจต่ออดีต และปัจจุบันไม่ใช่แค่พูดถึงคำศัพท์ใหม่ๆ เท่ห์ๆ ต้องเข้าใจการเมือง และปมเงื่อนของสังคมไม่เช่นนั้นเราจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้เช่นกัน” 

รศ.ดร.วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร กล่าว

ธนาธร ประธานคณะก้าวหน้ากล่าวว่า ทุกประเทศมีความจำเป็นที่จะต้องมียุทธศาสตร์ชาติ แต่ปัญหาคือ ยุทธศาสตร์ 20 ปีของไทยคิดขึ้นมาเพื่ออะไร ? ในเมื่อเรามีสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ทำหน้าที่ออกแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทุกๆ 5 ปีอยู่แล้ว 

ธนาธรชี้ให้เห็นว่าวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของไทยคือ ไม่ใช่เข็มทิศเพื่อพัฒนาประเทศให้ก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองสามารถกำหนดการทำงานของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับผู้มีอำนาจได้ผ่านยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะเห็นได้จากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่มาจากการแต่งตั้งของคสช.มีอำนาจเหนือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน กระทั่งสามารถล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้เลย 

“ประเทศไทยภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีจะไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้ หากเราไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญ และยกเลิกยุทธศาสตร์ 20 ปี และแผนปฏิรูปที่ออกในสมัยรัฐบาลประยุทธ์”

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าว

สร้างฉันทามติใหม่ ทลายโซ่ตรวนที่ฉุดรั้งความเจริญประเทศ เพื่อปลดปล่อยศักยภาพประเทศไทย

ผู้อ่านท่านหนึ่งกล่าวว่า ประเทศไทยเติบโตมาพร้อมๆ กับประเทศเกาหลีใต้ และทดลองโมเดลการพัฒนาแบบต่างๆ มามากมายผ่านไป 20 ปี โมเดลที่เคยใช้ในอดีตอาจไม่ตอบโจทย์ในอนาคตอีกแล้ว และเราก็ยังไม่สามารถก้าวไปเป็นประเทศพัฒนาได้เสียที เราควรจะต้องรื้อโครงสร้างเดิมทิ้ง แล้วสร้างใหม่หรือต่อเติมขยายส่วนจากโครงสร้างเดิมที่มีอยู่ เพื่อให้ไทยไล่กวดเป็นประเทศพัฒนาแล้ว และสามารถรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร

ธนาธรตอบในประเด็นนี้ไว้ได้อย่างแหลมคมว่า หากลองดูนโยบายเศรษฐกิจของทุกพรรคการเมืองมีลักษณะคล้ายกันหมด ปัญหาของประเทศไทยตอนนี้คือ ปัจจุบันนี้มีโซ่ตรวนที่พันธนาการ และปิดกั้นการปลดปล่อยศักยภาพของประเทศเป็นโซ่ตรวนที่ล่ามพลังการผลิตของประเทศเอาไว้ ตราบใดที่เรายังไม่สามารถปลดโซ่ตรวนนี้ได้เราก็ไม่สามารถพูดถึงหรือแก้ไขปัญหาในเรื่องอื่นๆ ได้ เพราะมันเป็นปัญหาที่มีโซ่ตรวนพันธนาการโยงใยเต็มไปหมด ดังนั้นเราต้องทำลายโซ่ตรวนที่ฉุดรั้งการพัฒนาประเทศนี้ เพื่อเปิดประตูไปสู่ความสว่างไสวให้กับประเทศไทย 

“ผมมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไทย ผมเห็นวิศวกร ผมเห็นช่างเทคนิก คนไทยที่มีความรู้ความสามารถ ผมเห็นนักการเงิน เกษตรกรที่มีไอเดีย และมีศักยภาพเยอะแยะเต็มไปหมด ถ้า Political Platform มันดี ผมเชื่อว่าประเทศไทยไปไกลกว่านี้ได้ ตอนนี้การเมืองเป็นเรื่องที่ปิด ทำให้ศักยภาพของคนไทยทั้งสังคมถูกดึงออกมาใช้ไม่ได้ ตราบใดที่เรายังปลดโซ่ตรวนไม่ได้ เราก็ไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องอื่นได้ เพราะการจัดสรรทรัพยากรในประเทศจะบิดเบี้ยวไปหมดไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน พลังของคนทั้งชาติไม่ได้ถูกใช้ไปเพื่อผลักดันเพื่อความก้าวหน้า เพื่อความเจริญของประเทศ” 

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าว

อาจารย์วีระยุทธกล่าวถึงฉันทามติใหม่ของกลุ่มทุนไทยว่า “อยากเห็นทุนไทยหลังเผชิญวิกฤตโควิด-19 ร่วมกันควรจะนำมาสู่ข้อสรุปบางอย่างที่จะออกแบบกติกาได้ในอนาคต และยอมรับร่วมกันได้ว่า ประชาธิปไตยควรเป็นพื้นฐานสำคัญ การที่คุณจะเติบโตเป็นทุนใหญ่ได้ไม่ใช่เพียงแค่มีความพยายาม มีความเก่ง ทำด้วยหัวใจแล้วจะร่ำรวยเป็นหมื่นล้านได้มันไม่จริง ทุกคนรู้ดีว่าคุณอาจจะขยันช่วงต้นมีนวัตกรรมบางอย่าง พอถึงจุดหนึ่งจะใหญ่ขึ้นไปอีกขั้นได้คุณต้องวิ่งเต้นเข้าหากลุ่มชนชั้นนำต่างๆ หลายกลุ่มก้อนการเมือง”

“ถึงเวลาหรือยังที่จะตระหนักร่วมกันว่า การซื้อความเสี่ยงหรือประกันความเสี่ยงในที่สุดมันคือ การอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย และมีการแข่งขันที่เป็นธรรม หากไม่ยึดถือตรงนี้สุดท้ายเราก็ต้องแข่งขันเกกันไปมาเหมือนเล่นไพ่ คุณก็คิดว่าต้องวิ่งเข้าหากลุ่มไหน และทำอย่างไร สุดท้ายก็พังครืนกันทั้งระบบ เพราะได้รัฐที่ไม่สามารถตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาชีวิตของประชาชน และธุรกิจของคุณได้ ดังนั้นถ้ากลุ่มทุนไทยจะเรียนรู้อะไร (หลังโควิด-19) และสร้างฉันทามติร่วมกันและยอมรับว่า ควรให้ประชาธิปไตยกับการแข่งขันที่เป็นธรรมเป็นระบบประกันภัยที่ดีที่สุดสำหรับกลุ่มทุนไทยในอนาคต”

อาจารย์วีระยุทธกล่าว

เมื่อโลกไม่สนใจไทยอีกต่อไป แล้วประเทศไทยจะเดินต่อไปอย่างไร ?

ผู้เข้าร่วมท่านหนึ่งตั้งคำถามได้อย่างน่าสนใจถึงกรณีที่บทวิเคราะห์ของ KKP Research เกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ประเทศไทยไร้ความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมส่งออกซึ่งกำลังเผชิญความท้าทายใหม่ ไม่มีสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง และทำหน้าที่เป็นเพียงผู้รับจ้างผลิต นอกจากนี้นโยบายรัฐยังไม่มีการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาในระยะยาว ในขณะที่กลไกขับเคลื่อน (Growth Engine) ของไทยก่อนโควิด-19 พึ่งพาภาคบริการโดยเฉพาะการท่องเที่ยวเป็นหลัก เราควรมีนโยบายแบบไหนในการรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ เหล่านี้

อาจารย์วีระยุทธกล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันว่า เงินลงทุนอุตสาหกรรมซึ่งเป็นเงินลงทุนทางตรงระหว่างประเทศ รวมถึงเงินลงทุนในตลาดหุ้นมีแนวโน้มไหลออกจากไทยไปเรื่อยๆ ซึ่งสะท้อนว่าโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยใช้ไม่ได้อีกต่อไป สิ่งที่ต้องคิดต่อไปเมื่อเงินลงทุนเหล่านี้ไหลออกไป และประเทศไทยมีความสามารถในการผลิตภายในประเทศมีมากน้อยแค่ไหน 

หลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง แม้ว่าภาคธนาคารจะเผชิญวิกฤต แต่ไทยยังโชคดีที่ค่าเงินถูกลงส่งผลให้ราคาสินค้าของไทยถูกลงไปด้วยทำให้การส่งออกเป็นหัวหอกในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทย เมื่อเวลาผ่านไปไทยได้รับอานิสงค์จากการลงทุนของประเทศญี่ปุ่น และการเปิดประเทศของจีนที่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยจนทำให้จีดีพีของไทยอิงอยู่กับภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก เมื่อเจอวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้เข้าไปสะท้อนชัดเจนว่า ไทยไม่เคยมียุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืนเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้จริง และทำให้เห็นว่าเราไม่สามารถพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวเป็นหัวหอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อีกต่อไป สิ่งที่รัฐบาลไทยกำลังทำอยู่เวลานี้คือ การเอาเงินไปถมอดีตที่ไม่มีทางฟื้นกลับคืนมาได้ดังเดิม 

ในขณะที่ภาคการส่งออกของไทยก็น่าเป็นห่วง อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสของไทยเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการส่งออกเศรษฐกิจไทยมาหลายทศวรรษ แต่ฮาร์ดดิสที่ผลิตในไทยเป็นฮาร์ดดิสแบบเก่า หากเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วฮาร์ดดิสแบบเก่าอาจจะหายไปจากโลกเลยก็ได้ อาจจะทำให้มีคนตกงานอีกเป็นจำนวนมาก

“การพัฒนาเศรษฐกิจจำเป็นจะต้องยึดถือแกนสำคัญให้มั่นต้องให้ความสำคัญกับเรื่องความสามารถในการผลิตของประเทศ นี่เป็นเรื่องที่ย้ำก่อนวิกฤตของโควิด-19 ว่าจำนวนนักท่องเที่ยว ตัวเลขการลงทุนจากต่างชาติเป็นเพียงองค์ประกอบเสริมเท่านั้น และค่อนข้างฉาบฉวยไม่สามารถยึดเป็นเครื่องจักรเศรษฐกิจหลักของประเทศได้”

อาจารย์วีระยุทธ์กล่าว

อาจารย์วีระยุทธเสนอให้เรายอมรับความจริงเรื่องภาคการท่องเที่ยวไม่ใช่หัวหอกหลักของเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 และตั้งโจทย์ชวนคิดต่อไปว่าทรัพยากร แรงงาน เครื่องจักร โรงแรมในภาคการท่องเที่ยวจะปรับตัวอย่างไรหลังจากวิกฤตครั้งนี้ และมองหาโอกาสใหม่ๆ ในการเป็นหัวหอกในการพัฒนาประเทศ และเตรียมแผนรับรองการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เราควรมุ่งไปสู่เทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Technology) และอุตสาหกรรมที่ตอบสนองต่อสังคมสูงอายุ ดึงคนจากภาคท่องเที่ยวมาสู่อุตสาหกรรมนี้ให้มากขึ้น หากเราไม่คิดแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เราก็ต้องกลับมาแก้นี้ในอนาคตอยู่ดี 

อาจารย์วีรยุทธกล่าวถึงบทบาท และตำแหน่งแห่งที่ของทุนไทยที่ควรจะเป็นว่า หากดูเม็ดเงินการลงทุนในรายงานของ KKP Research จะเห็นว่า กลุ่มทุนขนาดใหญ่ออกไปลงทุนนอกประเทศไทยทั่วอาเซียน เพราะรู้ว่าตลาดไทยไม่มีศักยภาพในการเติบโต และไม่น่าลงทุน แต่โจทย์ที่ต้องคิดคือ ทำอย่างไรให้การลงทุนของทุนขนาดใหญ่ในต่างประเทศทำให้ไทยได้ประโยชน์ด้วย เช่น เก็บสำนักงานใหญ่ด้านการออกแบบหรือธุรกิจที่มีมูลค่าสูงไว้ในประเทศ นี่คือบทบาทของนโยบายเศรษฐกิจไทยในอนาคตที่จะต้องออกแบบด้วย 

นอกจากนี้อาจารย์วีระยุทธยังเสนอให้ลดบทบาทรัฐส่วนกลางสนับสนุนให้การกระจายอำนาจมากขึ้น นโยบายอุตสาหกรรมต้องมีลักษณะกระจายในภูมิภาคมากขึ้น กระจายอำาจในระดับพื้นที่มากขึ้น รัฐส่วนกลางทำหน้าที่เพียงกำกับควบคุม ดูแลเรื่องแพลตฟอร์มให้บริการด้านข้อมูล และสนับสนุนท้องถิ่นให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และเชื่อมโยงกับภูมิภาค และประเทศอื่นๆ รอบข้าง พร้อมๆ กับไปการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีความสามารถในการผลิต และมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง

ขณะที่ธนาธรกล่าวเสริมว่า ประเทศไทยมีสภาพคล่องสูงจนล้นเรามีเงินฝากในธนาคารมากกว่าโอกาสในการลงทุน ไม่ใช่ประเทศไทยไม่มีเงินทุน ไม่มีความรู้ ไม่มีเทคโนโลนยี ไม่มีบุคคลากรที่มีศักยภาพ แต่สิง่ที่เราไม่มีคือ เราไม่มีความฝันถึงการพัฒนาประเทศ บทบาทของภาครัฐควรจะเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างทุนขนาดใหญ่ กลาง เล็กในระบบเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

ธนาธรกล่าวถึงบทบาทของทุนขนาดต่างๆ ควรจะจัดวางอยู่ตรงไหนในห่วงโซการผลิต เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมซึ่งปัจจุบันทุนขนาดใหญ่ทำสินค้าในขั้นปฐมภูมิ และทุติยภูมิหรือเป็นผู้รับจ้างผลิตสินค้าให้กับบริษัทที่จะไปขายในแบรนด์ของตัวเอง (Origianl Equipment Manufacturer : OEM) ซึ่งมีสัดส่วนที่น้อยมาก ใช้กฎหมาย และใช้อำนาจเหนือตลาดในการเอาเปรียบผู้ประกอบการรายย่อย 

ธนาธรเสนอว่า บทบาทของทุนใหญ่ให้ความสำคัญกับแบรนที่เป็นผู้รับจ้างผลิตสินค้าให้กับบริษัทที่จะไปขายในแบรนด์ของตัวเอง (OEM) ที่ทรัพยากรถูกนำไปใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพของสินค้า หรือทำวิจัยและพัฒนาสินค้า (R&D) แล้วไปดึงส่วนแบ่งในตลาดโลก ส่วนทุนขนาดกลางทำการแปลงรูปในขั้นทุติยภูมิ และทุนขนาดเล็กทำการแปลงรูปขั้นต้น และการทำสินค้าพื้นฐาน นี่คือการพัฒนาทุนนิยมไทยที่ควรจะเป็นที่สามารถแข่งขันกับโลกได้ นี่คือโมเดลการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ควรจะเป็น แต่ที่ผ่านมารัฐไทยเอื้อให้ทุนผูกขาดในไทยสะสมทุนได้ผ่านการใช้กฎหมายเอื้อให้เกิดการผูกขาด ใช้เครือข่ายอุปถัมภ์ และใช้อำนาจเหนือตลาดโดยไม่มีการพัฒนานวัตกรรม ทำให้ทุนขนาดกลาง และเล็กไม่สามารถเติบโตได้ 

“บทบาทของทุนขนาดใหญ่คือ การเป็นแม่ทัพของเศรษฐกิจไทย เพื่อดึงมูลค่าในตลาดโลกกลับสู่ประเทศไทย เพื่อให้คนไทยรวยขึ้น ไม่ใช่ผูกขาดตลาดในประเทศไทย และกีดกัน ปิดช่องทางของทุนขนาดกลาง และเล็ก”  

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าว

ชมบันทึกถ่ายทอดสดกิจกรรม Reading Group ครั้งที่ 10 เศรษฐกิจสามสี

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เรื่องเด่น

บทความ

   ดูทั้งหมด
15 ธันวาคม 2565    Common School

สถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

8 ธันวาคม 2565    Common School

FIFA World Cup กับด้านมืดของ (เหล่า) เจ้าภาพที่กำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น

22 พฤศจิกายน 2565    Common School

Brave New World

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

สายใยครอบครัวถักทอรัฐสวัสดิการ

19 พฤศจิกายน 2565    Common School

หรือที่ความรู้ไร้ประโยชน์เพราะมันคัดง้างระบอบอำนาจ? : อ่านไขว้ “ประโยชน์ของความรู้ที่ไม่มีประโยชน์” x “แม่ง โคตรโฟนี่เลย”

14 พฤศจิกายน 2565    Common School

“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายที่บอกว่าระบบราชการไม่เรียกร้องทักษะการใช้เหตุผล

13 พฤศจิกายน 2565    การเมืองท้องถิ่น บทความ

จดหมายเปิดผนึก ถึงประชาชนที่เคารพ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศไทย

9 พฤศจิกายน 2565    Common School

เครือข่ายทหารสายวัง 2 แผ่นดิน กรณี “ทหารเสือราชินี” และ “ทหารคอแดง”

7 พฤศจิกายน 2565    Common School

เรื่องเกิดจากนามสกุลใหม่: ทลายสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยรักแท้ฝ่าข้อจำกัด (?)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า